กรณีการสวมบัตรประชาชนที่ถูกเปิดเผยล่าสุดเกิดขึ้นเดือนตุลาคม 2565 กรมการปกครองตรวจพบ 59 รายชื่อจาก 10 สำนักทะเบียนทั่วประเทศ ต้องสงสัยว่า อาจถูกนำไปสวมบัตรประชาชนให้กับคนต่างด้าว โดยมีพนักงานจ้างคนหนึ่งในสำนักทะเบียน อ.สารภี จ.เชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการ
ย้อนไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 หญิงคนหนึ่งใช้บัตรประชาชนระบุที่อยู่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ติดต่อที่สำนักทะเบียน อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เพื่อขอย้ายที่อยู่ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า รายชื่อในระบบทะเบียนราษฎรจึงดำเนินการให้
สำนักทะเบียนอำเภอลำลูกกา จ.ปทุมธานี
1 เดือนต่อมา ผู้หญิงคนเดียวกัน ติดต่อขอทำบัตรประชาชนใบใหม่ แต่ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบในระบบ กลับพบว่า รายชื่อดังกล่าวไม่เคยทำบัตรประชาชนมาก่อน ทำให้ทราบว่า บัตรประชาชนที่ผู้หญิงคนนี้ใช้อยู่เป็นบัตรปลอม จึงระงับรายการการทั้งหมดที่เคยทำกับสำนักทะเบียนลำลูกกาและดำเนินการตรวจสอบ
กรมการปกครอง ตรวจสอบพบว่า หลังล้มเหลวจากการพยายามทำบัตรประชาชนที่ อ.ลำลูกกา หญิงคนเดียวกันนี้ไปทำบัตรประชาชนที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ในเดือนตุลาคม 2565 โดยเป็นการทำบัตรประชาชนครั้งแรกนอกภูมิลำเนาและล่าช้ากว่ากฎหมายกำหนดกว่า 10 ปี
นำไปสู่การตรวจสอบขยายผลโดยอ้างอิงข้อมูลการทำบัตรประชาชนครั้งแรก นอกภูมิลำเนาในอำเภอสารภี พบว่ามีทั้งหมด 71 รายชื่อ ในจำนวนนี้พบ 59 รายชื่อจาก 19 อำเภอใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ ต้องสงสัยว่าถูกนำไปสวมบัตรประชาชน
พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ที่ปรึกษาโครงการอำนวยความเป็นธรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน กรมสืบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ให้ข้อมูลว่า จากการสอบสวนเบื้องต้น มีพนักงานจ้างของสำนักทะเบียนอำเภอสารภีคนหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ยอมรับสารภาพว่ากระทำการเพียงคนเดียว โดยใช้วิธีปลอมลายมือชื่อปลัดอำเภอสารภีในเอกสารการทำบัตรประชาชน
เขารับสารภาพเบื้องต้นว่าปลอมลายเซ็นบ้าง ให้ปลัดเซ็นชื่อไว้ก่อนบ้าง แล้วก็ทำไปโดยได้รับค่าตอบแทน กลุ่มคนที่ทำส่วนใหญ่ตามที่เขาอ้างก็จะเป็นคนต่างด้าว
พ.ต.ท. พงศ์อินทร์ อินทรขาว ที่ปรึกษากรมสืบสวนคดีพิเศษ
สถานีตำรวจภูธรสารภี จ.เชียงใหม่ สอบสวนผู้เสียหายจากที่ว่าการอำเภอสารภีรวม 4 ปากและส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ภาค 5
ล่าสุด ป.ป.ช.ภาค 5 พิจารณาให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 5 สืบสวนข้อเท็จจริงต่อแล้ว
ในส่วนของการตรวจสอบรายชื่อต้องสงสัยทั้ง 59 รายชื่อนั้น ที่ว่าการอำเภอสารภีประสานกับสำนักทะเบียนภูมิลำเนาของรายชื่อที่ปรากฎทั้ง 19 อำเภอใน 10 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว โดยหนึ่งในอำเภอที่มีรายชื่อถูกนำไปทำบัตรประชาชนมากที่สุดคือ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก มีทั้งสิ้น 30 รายชื่อ
ทีมข่าวสอบถามผู้ใหญ่บ้านห้วยปูแกง ต.แม่ต้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งมี 2 รายชื่อ ในบ้านเลขที่ 5 ต้องสงสัยว่า ถูกนำไปสวมบัตรประชาชนได้คำตอบว่าว่าในหมู่บ้านไม่มีบ้านเลขที่ 5 และไม่มีใครรู้จักรายชื่อทั้ง 2 ว่าเป็นใคร
ตอนเป็นผู้ใหญ่บ้านใหม่ ๆ ผมเคยประกาศเรียกชาวบ้านในหมู่บ้านมาให้ข้อมูลประชากรแต่มีบ้านเดียวที่ไม่มาคือบ้านเลขที่ 5 ผมก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนเพราะถามใครก็ไม่มีใครรู้จัก
บุญธรรม ปานคีรี ผู้ใหญ่บ้านห้วยปูแกง ต.แม่ต้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
ทีมข่าวสอบถามปลัดทะเบียนอำเภอท่าสองยางให้ข้อมูลว่าหลังได้รับการประสานจากอำเภอสารภี จึงส่งจดหมายเรียกประชาชนที่มีรายชื่อดังกล่าวให้มารายงานตัว ณ ที่ว่าการอำเภอท่าสองยาง แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีประชาชนตามรายชื่อหรือครอบครัวของบุคคลดังกล่าวมารายงานตัวแม้แต่คนเดียว หลังจากนี้อาจต้องประสานกับผู้นำพื้นที่ให้ติดตามตัวมาให้ข้อมูลต่อไป
ที่ปรึกษากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอให้ข้อมูลว่า รายชื่อต้องสงสัยที่ถูกนำมาสวมบัตรประชาชนที่อำเภอสารภีมีตั้งแต่อายุ 8 ปี ถึง 47 ปี ทั้งหมดเป็นรายชื่อที่ไม่มีความเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎร บางคนนำเอกสารสูติบัตรฉบับจริงมาใช้เป็นหลักฐานในการทำบัตรประชาชน ทำให้สันนิษฐานว่าญาติหรือแม้แต่เจ้าของรายชื่อบางคน อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง
ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลว่าการนำรายชื่อที่ไม่มีความเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรมาใช้สวมบัตรประชาชนมีมานานแล้ว แต่หลังจากปี 2547 กรมการปกครองนำระบบฐานข้อมูลออนไลน์และบัตรสมาร์ทการ์ดมาใช้ ทำให้บุคคลที่มีใบหน้าและลายนิ้วมือไม่ตรงกับฐานข้อมูลเดิมทำบัตรประชาชนไม่ได้
ผู้ที่ต้องการสวมบัตรต้องนำรายชื่อที่ไม่เคยทำบัตรประชาชนมาใช้ ที่สำคัญต้องมีอายุใกล้เคียงกัน นั่นคือเหตุผลที่การสวมบัตรประชาชนมักเป็นการทำบัตรครั้งแรกและทำล่าช้ากว่ากฎหมายกำหนด ส่วนสาเหตุที่ต้องทำต่างภูมิลำเนาเป็นเพราะนายหน้าต้องเลือกสำนักทะเบียนที่เจ้าหน้าที่ให้ความร่วมมือในการทุจริต
ข้อมูลจากดีเอสไอระบุว่าผู้ที่สวมบัตรประชาชนมีตั้งแต่บุคคลต่างด้าวที่ต้องการทำงานหรือประกอบธุรกิจในประเทศไทย ไปจนถึงกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่กลุ่มทุนธุรกิจสีเทาจากประเทศจีนเริ่มขยายฐานมายังพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยเพิ่มขึ้น อาจทำให้ความต้องการสวมบัตรประชาชนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย