ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็กอาการ ! ไข้กาฬหลังแอ่น ติดเชื้ออย่างไร ใครบ้างเสี่ยง ?

สังคม
25 พ.ย. 65
11:10
5,446
Logo Thai PBS
เช็กอาการ ! ไข้กาฬหลังแอ่น ติดเชื้ออย่างไร ใครบ้างเสี่ยง ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุอาการโรคไข้กาฬหลังแอ่น มักพบระบาดในหอพัก กองทหาร ห้องเรียน ส่วนใหญ่กลุ่มเสี่ยงในวัยหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ มีลักษณะไข้ ผื่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ วินิจฉัยช้าเสียชีวิตได้

กรณีสสจ.กระบี่ รายงานพบผู้ติดเชื้อเข้าข่าย "โรคไข้กาฬหลังแอ่น" ในพื้นที่โรงเรียนปอเนาะ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ 6 คน เสียชีวิต 1 คนอยู่ระหว่างเพาะเชื้อและรอผลตรวจทางห้องปฎิบัติการ พร้อมสั่งปิดโรงเรียนยันควบคุมสถาน การณ์แล้ว 

แม้โรคไข้กาฬหลังแอ่น จะไม่พบการระบาดได้บ่อย แต่ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตได้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่เขียนโดย ผศ.นพ.ยงค์ รงค์รุ่งเรือง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  

รู้จักอาการโรคไข้กาฬหลังแอ่น

โรคไข้กาฬหลังแอ่น นับเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป ขณะเดียวกันอาจก่อให้เกิดความกังวลแก่ประชาชนว่าโรคนี้จะมีอาการอย่างไร จะมีวิธีการรักษาอย่าง ไร มีโอกาสเสียชีวิตมากน้อยเพียงใด จะมีโอกาสติดต่อมาสู่ตนเองหรือไม่ จะมีวิธีใดป้องกันการติดโรคได้หรือไม่

ภาพ:กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

ภาพ:กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

ภาพ:กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคที่รู้จักกันมานาน มีชื่อทางการแพทย์ว่า Meningococcemia (การติดเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นในเลือด) หรือ Meningococcal meningitis (เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น) เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitides ซึ่งเป็นเชื้อกรัมลบ รูปทรงกลมจำพวกเดียวกับเชื้อหนองในแท้ หรือ Neisseria gonorrheae แต่ไม่ทำให้เกิดกามโรค และมีความรุนแรงในการก่อโรคมากกว่า มีอัตราการตายสูงกว่า

  • ชื่อโรคไข้กาฬ มีเหตุจากความรุนแรงของโรค ซึ่งทำให้ผู้ป่วยถึงแก่กรรมได้ในเวลาอันสั้น
  • ชื่อหลังแอ่น เนื่องจากลักษณะของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีการชักเกร็ง หลังแข็งแอ่น ไม่เกี่ยวข้องกับนกนางแอ่นแต่อย่างใด

โรคไข้กาฬหลังแอ่น มีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยในประเทศไทย มานานหลายปีแล้ว มีผู้ป่วยจำนวนน้อยในแต่ละปี ไม่ค่อยเกิดการระบาดเหมือนโรคระบาดอื่น ๆ เช่น อหิวาตกโรค ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นกับประชาชนจำนวนมากนับร้อย หรือพันคน และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ มักเป็นการระบาดในวงจำกัด กล่าวคือ เกิดการติดต่อกันในหมู่ประชาชนจำนวนหนึ่ง ในชุมชนเดียวกัน

โดยจะเกิดกับผู้สัมผัสโรค เช่น อาศัยในหอพัก ในกองทหาร ในห้องเรียน ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วย อย่างไรก็ตามอาจพบผู้ป่วยโรคนี้เพียงรายเดียว ไม่มีประวัติการสัมผัสโรคได้เช่นกันผู้ป่วยส่วนใหญ่มักอยู่ในวัยเด็ก หนุ่มสาวหรือผู้ใหญ่อายุน้อย การเกิดโรคไม่สัมพันธ์กับฤดูกาลแต่อย่างใด

อ่านข่าวเพิ่ม พบอาการคล้าย "ไข้กาฬหลังแอ่น" ระบาดกระบี่ ติดเชื้อ 6 ตาย 1

ภาพ:เพจทีวีกระบี่ออนไลน์

ภาพ:เพจทีวีกระบี่ออนไลน์

ภาพ:เพจทีวีกระบี่ออนไลน์

เช็กอาการโรค-ติดเชื้ออย่างไร

เชื้อโรคไข้กาฬหลังแอ่น สามารถพบอยู่ในลำคอของคนปกติส่วนน้อยได้ โดยไม่เกิดโรคขึ้น เรียกว่า การเป็นพาหะของเชื้อ เชื้อสามารถถ่ายทอดได้โดยทางเดินหายใจ ผ่านการไอ จาม เสมหะ น้ำมูก น้ำลายไปสู่ผู้ใกล้ชิด

ผู้ที่มีปัจจัยภายในตนเองผิดปกติบางอย่าง เช่น ร่างกายไม่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนี้ หรือ เชื้อสามารถเล็ดลอดเข้าสู่กระแสโลหิต หรือระบบประสาทส่วนกลางได้ จึงก่อให้เกิดโรคขึ้น 

เมื่อพบผู้ป่วยโรคนี้จะต้องรายงานต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากจัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง โรคไข้กาฬหลังแอ่นมีลักษณะที่สำคัญ 3 อย่าง คือ

  • ไข้
  • ผื่น
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ตามลำดับที่พบมากไปน้อย ผู้ป่วยอาจมีอาการครบทั้ง 3 อย่าง หรือ 2 จาก 3 อย่างนี้ ความรุนแรงของโรคแตกต่างกันได้มาก อาจมีอาการค่อยเป็นค่อยไป จนถึงรุนแรงรวดเร็ว ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

อาการที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยมักจะมีไข้มาก่อนประมาณ 2-3 วัน มีผื่นขึ้น ลักษณะเป็นจ้ำเลือดเหมือนฟกช้ำ ผื่นอาจมีรูปร่างคล้ายดาวกระจายซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ มักเป็นบริเวณลำตัวส่วนล่าง ขา เท้า และบริเวณที่มีแรงกดบ่อยๆ เช่น ขอบกางเกง ขอบถุงเท้า อาจเป็นที่เยื่อบุตา หรือ มือได้

หากมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง อาจซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือสับสนได้ ไม่ค่อยมีชักหรืออัมพาตบ่อยเท่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียอื่น อัตราการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

ในรายที่รุนแรง เช่น ในกรณีการติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ การไหลเวียนเลือดล้มเหลว ความดันเลือดต่ำ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าเขียวหรือดำคล้ำ ไตวาย น้ำท่วมปอด ร่วมด้วย มักเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว อัตราตายสูงถึงร้อยละ 70-80 ของผู้ป่วยทั้งหมด

ส่วนในรายที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อในเลือด อัตราตายต่ำกว่ามาก ประมาณร้อยละ 2-10 ของผู้ป่วยทั้งหมด การรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีมีส่วนช่วยลดอัตราการตายลงได้ส่วนหนึ่ง

หากเด็กหรือหนุ่มสาว ผู้ใหญ่อายุน้อย ที่มีอาการของไข้เฉียบพลัน มีผื่นที่เป็นจ้ำเลือดคล้ายรูปดาวกระจาย หรือมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบข้างต้น จะต้องนึกถึงโรคไข้กาฬหลังแอ่นไว้ด้วยเสมอ ควรไปรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด

เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ หากล่าช้าเกินไป ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ แพทย์จะทำการสอบถามประวัติความเจ็บป่วย ตรวจร่างกายผู้ป่วย ควรแจ้งแก่แพทย์ด้วยว่า ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวใดหรือไม่ แพ้ยาใดหรือไม่

เนื่องจากแพทย์จะต้องพิจารณาให้ยาต้านจุลชีพโดยเร็ว แพทย์จะทำการเพาะเชื้อในเลือด ในบางรายอาจตรวจน้ำไขสันหลัง จากนั้นจะเริ่มให้ยาต้านจุลชีพชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ยาที่มักจะเลือกใช้ คือ ยา กลุ่ม penicillin หรือ cephalosporins ร่วมกับการรักษาประคับประคอง เช่น ให้น้ำเกลือแก้ไขภาวะขาดน้ำเกลือแร่ กรดด่างไม่สมดุล การป้องกันโรคมี 2 วิธีหลัก คือ

  • การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค
  • การกินหรือฉีดยาต้านจุลชีพ
  • การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค

 


วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นป้องกันโรคได้เพียงบางสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ A, C, Yและ W-135 ดังนั้น การให้วัคซีนจะได้ผลในบางพื้นที่ที่ทราบสายพันธุ์ (serogroup) ของเชื้อแล้วเท่านั้น ในกรณีให้วัคซีนไม่ครอบคลุมสายพันธุ์ก่อโรคจะไม่ได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกัน

ในประเทศไทย สายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ สายพันธุ์ A และ B การฉีดวัคซีนจึงมีที่ใช้ในกรณีที่คนที่จะเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเป็นประจำ หรือ ให้วัคซีนแก่ประชาชนที่อยู่เขตระบาดซึ่งทราบสายพันธุ์ของเชื้อแล้วประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับการป้องกัน

นอกจากจะเดินทางเข้าไปในเขตที่มีการระบาดเป็นประจำ เช่น เช่น ประเทศแถบทะเลทรายซาฮารา ในทวีปแอฟริกา ประเทศในตะวันออกกลาง ผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในเขตดังกล่าว ดังเช่นชาวไทยมุสลิมผู้ไปแสวงบุญ ณ นครเมกกะ ประ เทศซาอุดีอาระเบีย ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องโรคก่อนการเดินทาง

ภาพ:เพจทีวีกระบี่ออนไลน์

ภาพ:เพจทีวีกระบี่ออนไลน์

ภาพ:เพจทีวีกระบี่ออนไลน์

โดยติดต่อขอรับวัคซีนในกรุงเทพมหานครได้ที่กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย  ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข

สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี ในเขตภูมิภาครับได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ หรือด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง