วันนี้ (24 พ.ย.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัปดาห์ที่สองของการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CoP19) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-25 พ.ย.นี้ ที่กรุงปานามา ซิตี้ สาธารณรัฐปานามา
โดยภาคี 145 ประเทศ จาก 184 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม โดยเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา มีสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 3 ชนิดเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม
นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผอ.กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตส โดยหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ขอพูดในที่ประชุมสนับสนุนการพิจารณา ได้แก่
- ข้อเสนอการขึ้นบัญชี 2 นกกางเขนดง (White-rumped Shama) เสนอโดย มาเลเซีย สิงคโปร์ โดยที่ประชุมเห็นชอบเป็นเอกฉันท์
- ข้อเสนอการปรับเพิ่มบัญชี นกปรอดแม่ทะ (Straw-headed bulbul) จากบัญชี 2 เป็นบัญชี 1 เสนอโดย มาเลเซีย สิงคโปร์ อเมริกา ที่ประชุมเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ทั้งนี้ให้ชะลอการบังคับใช้ออกไป 12 เดือน ตามการร้องขอของอินโดนีเซีย
- ข้อเสนอการขึ้นบัญชี 2 สำหรับตะกอง (Chinese Water Dragon) เสนอโดย เวียดนาม และสหภาพยุโรป ผลการพิจารณาได้รับการรับรองโดยเสียงส่วนใหญ่
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ทั้งนี้ผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อการปรับเพิ่มบัญชีสัตว์ป่าทั้ง 3 รายการ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยและภาคีอนุสัญญา ในการควบคุมการค้าชนิดพันธุ์ดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน โดยไม่กระทบกับความอยู่รอดของชนิดพันธุ์ในธรรมชาติ
ชี้นกปรอดแม่ทะคาดสูญพันธุ์จากไทย 30 ปี
นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ (มก.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ถือเป็นข่าวดีที่มีการขึ้นปรับขึ้นบัญชีสัตว์ป่า ในกลุ่มนก โดยเฉพาะข้อมูลนกปรอดแม่ทะ จากบัญชี 2 ไปอยู่ในบัญชี 1 เนื่องจากประชากรนกในธรรมชาติลดลงอย่างชัดเจน จากการที่อินโดนีเซีย มีการค้านกป่าเพื่อการส่งออกอย่างหนัก ในรอบ 30 ปี มาตรการควบคุมในประเทศไม่สามารถจัดการได้ ต้องให้ไซเตสเข้ามาควบคุม
ส่วนมากเป็นความนิยมของผู้ชายต้องเลี้ยงนกไว้ที่บ้าน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศแถบตะวันออกกลาง ทำให้นกป่าถูกลักลอบจับออกจากธรรมชาติ แม้บางส่วนจะมีการเพาะพันธุ์ได้ แต่อินโดนีเซียส่งออกนกระหว่างประเทศ
ภาพ : นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ
นายสัตวแพทย์เกษตร กล่าวอีกว่า ส่วนประเทศไทย คาดว่านกปรอดแม่ทะสูญสูญพันธุ์จากไทยไป 30 ปีแล้ว สาเหตุคือการลักลอบจับ เพื่อมาเป็นสัตว์เลี้ยงและการทำลายป่าที่ราบต่ำของภาคใต้ และพัฒนาเป็นพื้นที่สวนยางและเกษตรกรรม
คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปจากป่าภาคใต้ของไทย เพราะตั้งแต่เริ่มดูนกเมื่อ 30 ปีก่อนก็ไม่เจอนกตัวนี้ และปัจจุบันไม่มีรายงานพบแม้แต่ตัวเดียว โดยอาจจะสูญพันธุ์ในช่วงเวลาเดียวกับนกแต้วแร้วท้องดำ จากการทำลายป่าแถวภาคใต้
ภาพ : นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ
ส่วนกางเขนดง ต้องยอมรับว่ากระแสความนิยมเริ่มเยอะขึ้นมา จากนกปรอดหัวโขน ที่กลายเป็นสินค้าที่มีราคาแพง เพราะถูกนำไปใช้ในการแข่งขันเรื่องเสี่ยงดี จึงมีการเปิดตลาดใหม่จับนกกกางเขนดงตัวผู้ เอามาเลี้ยงและเริ่มมีราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพัน
สอดคล้องกับที่ในประเทศมาเลเซีย ก็มีจับนกกางเขนดงปีละนับหมื่นตัวส่งออกขายไป และเน้นเฉพาะตัวผู้ เพราะมีเสียงร้องดี จนกระทบต่อระบบนิเวศ
ขณะที่ตัวตะกอง เป็นการขึ้นบัญชี 2 เพราะถูกจับในธรรมชาติในป่าแถวกัมพูชา เวียดนาม และลาว ออกไปขายเป็นสัตว์เลี้ยงในแถบประเทศอเมริกา และยุโรป
การปรับบัญชีจึงจะชวยในเรื่องสถานการณ์ประชากรในธรรมชาติลดลง และ เป็นการเตือนให้ประเทศที่มีสัตว์ทั้ง 3 ชนิดในการควบคุมและฟื้นฟูประชากรเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์