ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โควิด-19 ทำเด็กนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้น 3 แสนคน

สังคม
22 พ.ย. 65
16:28
332
Logo Thai PBS
โควิด-19 ทำเด็กนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้น 3 แสนคน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและภาคีต่างๆ เพื่อเชิญร่วมออกแบบอนาคตการศึกษาเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

 เด็กไทย 1.9 ล้านคน เสี่ยงหลุดระบบการศึกษา

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนฯ เปิดเผยสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยจากข้อมูล เดือนสิงหาคม 2565 พบว่า มีนักเรียนยากจนและด้อยโอกาสที่มีความเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา 1.9 ล้านคน

ขณะนี้มีนักเรียนที่หลุดออกจากระบบไปแล้ว 8,618 คน และหากดูเฉพาะช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 (ในช่วงการระบาด 3 ปี) พบว่า มีเด็กนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้นราว 3 แสนคน

เมื่อมองถึงโอกาสทางการศึกษาไปจนถึงปลายทางหรือระดับอุดมศึกษา จาก 1.9 ล้านคน กลับมีเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่มีโอกาสไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่อยู่ระดับมากกว่าร้อยละ 30 หรือน้อยกว่าคนทั่วไปเกือบ 3 เท่า และน้อยกว่าคนที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ 5 เท่า

และหากเทียบกับระดับนานาชาติ พบว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาในระดับประถมศึกษา แต่กลับมีปัญหาเด่นชัดในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และในความเป็นจริงเริ่มเกิดปัญหาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่โอกาสในการเรียนต่อลดลงมาเหลือเพียงแค่ร้อยละ 76 และเหลือร้อยละ 27 ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และลงไปถึงร้อยละ 8 ในระดับมหาวิทยาลัย

ดร.ไกรยส ระบุว่า ในปี 2565 พบว่า มีเด็กไทย 2.5 ล้านคน ที่อยู่ใต้เส้นความยากจน หรือครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 2,762 บาท (ตามเกณฑ์เส้นความยากจนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ - สศช.) ในจำนวนนี้ กสศ.สามารถมีงบประมาณดูแลได้เพียง 1.3 ล้านคน ส่วนที่เหลือจากนั้น กสศ.ช่วยสนับสนุนข้อมูลไปยังหน่วยงานที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้ ให้ใช้งบประมาณของหน่วยงานดำเนินการช่วยเหลือเด็กต่อไป

ซึ่งจากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่คนไทยมีรายได้ลดลงโดยเฉพาะคนที่มีบุตรหลานอยู่ในระบบการศึกษา ดร.ไกรยส ระบุว่า หากเราไม่ทำอะไร การฟื้นฟูทางการศึกษาของประเทศไทย จะเป็นเหมือนตัวอักษรภาษาอังกฤษ "เค"

เด็กที่พ่อแม่มีทรัพยากรที่ดี มีโอกาสในการศึกษาที่ดี ก็จะฟื้นฟูเป็นแบบตัว "วี" แต่เด็กในครัวเรือนที่มีรายได้น้อยหรือเป็นผู้ด้อยโอกาส จะมีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ที่ฝังอยู่กับตัวเขาไปตลอดชีวิต เวทีนี้จึงมีความสำคัญต่อการย้ำการฟื้นฟูความถดถอยทางการเรียนรู้

การระบาดโควิด-19 กระทบภาวะการณ์เรียนรู้เด็กทั่วโลก

ด้าน ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบุว่า ในช่วงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเรียนรู้ของเด็กทั่วโลก การปิดโรงเรียนในช่วงการระบาดส่งผลกระทบต่อเด็กทั่วโลกมากกว่า 1,600,000,000 คน ในจำนวนนี้มีเด็กหลายล้านที่มีความเสี่ยงไม่ได้กลับเข้าไปเรียนอีก

ในกรณีประเทศไทย พบว่า เด็กในช่วงประถมศึกษาตอนต้น (ป.1 - ป.3) เป็นช่วงชั้นที่มีปัญหาภาวะถดถอยมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 72.2 เมื่อเทียบกับระดับชั้นอื่นๆ ของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจากการวิจัยของคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการศึกษาเด็กปฐมวัยจาก 25 จังหวัดทั่วประเทศ ผลการศึกษา พบว่า เด็กอนุบาลใน 3 จังหวัดที่มีปัญหาการระบาดของโควิด-19 จนต้องปิดโรงเรียนในช่วงเดือนมกราคม ปี 2565 มีภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยทั้งทางด้านภาษา คณิตศาสตร์ และสติปัญญา

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังสถานการณ์โควิด-19 เรียกว่าสถานการณ์หลายอย่างมีความรุนแรงขึ้น เช่น จำนวนเด็กที่ไม่สามารถบอกตัวเลขได้ถูกต้อง มีความรุนแรงมากขึ้นในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งปัญหาความรู้ถดถอยก็มีความรุนแรงมากขึ้น

ปัญหาการเรียนรู้ถดถอยมีความสัมพันธ์กับความยากจน คือยิ่งครอบครัวยากจนเท่าไหร่ และขาดความพร้อม ก็จะมีปัญหาสถานการณ์ความรู้ที่ถดถอยมากกว่าครอบครัวที่ค่อนข้างมีความพร้อม

มองปัญหาการศึกษา เป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพใหญ่

ด้าน ดร.วราภรณ์ สามโกเศศ อดีตประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศการศึกษา กล่าวถึงบทเรียนจากการทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษา พบว่า การปฏิรูปการศึกษาที่จะทำให้ได้ผล ต้องเป็นการลงมือทำเองและต้องมีทรัพยากรในมือ และต้องให้คนเป็นหัวใจของการปฏิรูป เพราะต้องเป็นการทำงานที่ต่อเนื่อง

“ต้องมองด้วยว่า การศึกษาเป็น sub-system ขององคาพยพ ดังนั้น ถ้าแก้ที่การศึกษาอย่างเดียวจะแก้ไม่ได้ เพราะทุกอย่างโยงกันหมด แต่ต้องไปถึงครอบครัวซึ่งสังคมไทยมีปัญหาเรื่องนี้มาก จึงต้องดูทั้งระบบ ไปจนถึงการทำมาหากิน และสิ่งแวดล้อม"

ดร.วราภรณ์ ระบุว่า แนวทางหลังจากนี้ จะต้องเริ่มที่การเปลี่ยนที่ความคิด (Mindset) เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้มองได้กว้างขึ้น และจะช่วยให้งานที่จะทำหลังจากนี้เกิดผลในระยะยาวได้ ส่วนงานระยะสั้น ควรจะมีการช่วยเหลือให้เด็กที่จบ ม.3 มีงานทำและมีรายได้ นอกจากจะช่วยให้คนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะช่วยเปลี่ยนความคิดต่อระบบการศึกษาในระยะยาวด้วย รวมทั้งควรมีการสร้างความร่วมมือกับเอกชนที่พร้อมจะเข้ามาสนับสนุน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง