ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บรรลุแล้วฉันทามติถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค 2022

ต่างประเทศ
19 พ.ย. 65
09:39
351
Logo Thai PBS
บรรลุแล้วฉันทามติถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค 2022
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ที่ประชุมเอเปค 2022 ได้ร่วมกันหารือ เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้บรรลุฉันทามติถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีร่วมกัน นับเป็นครั้งแรกของไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2565  หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจ ที่เดินทางไปที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่จัดประชุม ทั้งสี จิ้นผิง ปธน.จีน ,คามาลา แฮร์ริส รอง ปธน.สหรัฐอเมริกา ,แอนโทนี แอลบานีซี นายกฯออสเตรเลีย ,จัสติน ทรูโด นายกฯแคนาดา ,โจโค วีโดโด ปธน.อินโดนีเซีย และลี เซียน ลุง นายกฯสิงคโปร์

จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นประธานเปิดการประชุมและร่วมประชุมภายใต้หัวข้อ "การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน" โดยกล่าวถึงการหารืออย่างไม่เป็นทางการ ว่าเอเปคควรจะทำอย่างไรเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน

จนถึงตอนนี้ยังคงต้องต่อสู้กับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโควิด 19 และถูกซ้ำเติมจากความท้าทายของสถานการณ์โลก

ที่สำคัญยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติ ซึ่งประเทศไทยได้นำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติมาเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 และเป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาและการเติบโตในระยะยาวที่เข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืนและครอบคลุม

โดยหวังว่าแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและฟื้นความสมดุล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยเชื่อว่าแนวคิดนี้มีความเป็นสากล

นอกจากนี้ ไทยยังได้ริเริ่มการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BGC หรือ Bangkok Goals และหวังว่าผู้นำทุกคนจะร่วมกันรับรองเอกสารสำคัญดังกล่าวในวันนี้

ขณะที่ การหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับแขกพิเศษ ได้แก่ เอมานูว์แอล มาครง ปธน.ฝรั่งเศส และเจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน อัล ซาอูด มกุฏราชกุมารและนายกฯซาอุดีอาระเบีย ภายใต้หัวข้อ "การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างเอเปกกับหุ้นส่วนด้านการค้า" เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกและภาวะถดถอยที่กำลังเกิดขึ้น ท่ามกลางความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ และความสำคัญของการค้าการลงทุนอย่างยั่งยืน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งปีนี้ได้ริเริ่มทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือ FTA-AP ผลักดันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ส่วนการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ ABAC ซึ่งนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ ระบุว่า ได้เสนอแนวทาง 5 หัวข้อหลักต่อที่ประชุมผู้นำเอเปค ซึ่งประกอบไปด้วย 69 ข้อย่อย แต่ปีนี้เป็นปีที่มีความพิเศษ เนื่องจากมีเรื่องการเมืองระหว่างประเทศแทรกซ้อนเข้ามา ทำให้ต้องเพิ่มเรื่องเร่งด่วนเข้าไปด้วย

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า 5 หัวข้อหลักที่นำเสนอ สอดคล้องกับแนวทาง BGC อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความยั่งยืน, ความสมดุล, รักษ์โลก, รักษ์สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร

และประเทศไทยมีความพร้อมใน BCG อย่างยิ่ง โดยเฉพาะตัว B (Bio) เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งจะเป็นตัวดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

ส่วนกำหนดการของการประชุมเอเปควันนี้ผู้นำเขตเศรษฐกิจจะเข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในช่วงที่ 2 หัวข้อของการหารือคือ การค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน ซึ่งจะเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 11.15 น.

และช่วงเที่ยงวันนี้ นายกฯ จะเปิดทำเนียบรัฐบาล ให้การต้อนรับ สี จิ้นผิง ปธน.ของจีน โดยมีวาระหารือทวิภาคี พิธีการแลกเปลี่ยนความตกลงและบันทึกความเข้าใจ และจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้นำจีนและภริยาด้วย

บรรลุแล้วฉันทามติถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค

ขณะที่รัฐมนตรีเขตเศรษฐกิจเอเปคบรรลุฉันทามติในการออกถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ค.ศ. 2022

เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย เปิดเผยว่า หลังการทำงานหนักและความพยายามร่วมกันของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ในที่สุดก็สามารถบรรลุฉันทามติและออกแถลงการณ์ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคได้แล้ว

นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีนี้ ที่สามารถออกเอกสารที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคร่วมกันได้

เนื้อหาในแถลงการณ์รัฐมนตรีเอเปคแบ่งเป็น 3 เรื่อง ตามหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย โดยยังระบุถึงสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนถึงความสำคัญของการค้าและการลงทุน ว่ามีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาในการเจรจายกร่างเอกสาร คือ ข้อ 7 ว่าด้วยสถานการณ์ในยูเครน ซึ่งในที่สุดที่ประชุมก็หาข้อยุติได้ในที่สุด โดยข้อความในแถลงการณ์ระบุว่า

เราได้เห็นสงครามในยูเครนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก สมาชิกเขตเศรษฐกิจส่วนใหญ่ประณามอย่างรุนแรงต่อสงครามในยูเครน และย้ำว่าสงครามทำให้เกิดทุกข์ยากอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษย์ ทำให้ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกยิ่งเลวร้ายลงไปอีก แต่ก็ตระหนักดีว่าเอเปคไม่ใช่เวทีสำหรับแก้ปัญหาด้านความมั่นคง และรับทราบว่าประเด็นด้านความมั่นคง ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบร่วมกันในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค พัฒนาไปเป็นเขตการค้าเสรี หรือ FTA ต่อไปในอนาคต

หากจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเปค หรือ FTA-AP ได้จริง จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่ RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

อเมริกาประชุมฉุกเฉินขีปนาวุธเกาหลีเหนือ

นอกเหนือจากประเด็นหลักๆ อย่างการผลักดันเป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่อง BCG ในการประชุมผู้นำเอเปคแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวสำคัญจากบรรดาผู้นำเขตเศรษฐกิจที่ร่วมกันประณามการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือด้วย

โดยที่คามาลา แฮร์ริส รอง ปธน.สหรัฐฯ เชิญผู้นำชาติพันธมิตรทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และแคนาดา ร่วมประชุมฉุกเฉิน คู่ขนานไปกับการประชุมผู้นำเอเปคเมื่อวานนี้ โดยทั้งหมดได้ร่วมกันประณามเกาหลีเหนือที่ละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติและทำลายเสถียรภาพในภูมิภาค หลังจากเกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธรอบใหม่ตั้งแต่เช้าวานนี้ (18 พ.ย.2565) ก่อนการประชุมผู้นำเอเปคเปิดฉากขึ้นไม่กี่ชั่วโมง

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า การทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าวิตก เพราะวิถีการยิงครอบคลุมไปถึงเป้าหมายได้ในหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง