สิทธิพิเศษของการเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมในเวทีนานาชาติอย่างหนึ่งคือ การเชิญประเทศ ผู้นำ ตัวแทน องค์กรอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในองค์กรนั้นๆ เข้าร่วมประชุมได้ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 ที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศไทย วันที่ 18-19 พ.ย.2565 เช่นเดียวกัน
“ไทย” ในฐานะเจ้าภาพ ใช้สิทธิพิเศษที่จะเชิญตัวแทนจากประเทศอื่นๆ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 29 นั้น จะมี ปธน.สี จิ้นผิง ของจีน, ปธน.เหงียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม, ปธน.เอมานูว์แอล มาครง ของฝรั่งเศส และเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย จะเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะ แขกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
อนึ่ง รัฐบาลไทย ได้เชิญ สมเด็จฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา เข้าร่วมประชุมเอเปค 2022 ในฐานะประธานอาเซียน และได้รับการตอบรับการเข้าร่วมประชุมเรียบร้อยแล้ว แต่กำหนดการของนายกฯ กัมพูชาต้องถูกยกเลิก เนื่องจากติดโควิด-19 เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา
แขกของรัฐบาลคือ?
บุคคลสําคัญหรือผู้นําของต่างประเทศ ทั้งที่เดินทางมาบุคคลเดียวหรือเป็นหมู่คณะและมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะ
- พระราชอาคันตุกะ (State Visit)
- พระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ (Visit as Private Guest of Their Majesties the King and Queen)
- แขกของรัฐบาล (Official Visit)
- เจรจาการทํางาน (Working Visit)
- อาคันตุกะของรัฐบาล (As Guest of the Government)
- การประชุมระหว่างประเทศ การประชุมสุดยอด (International Meeting/ Summit)
ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคนี้ ผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วม จะมาเยือนไทยในฐานะสมาชิกของเอเปค แต่ก็จะมีผู้นำบางประเทศที่เป็นทั้งสมาชิกเอเปคและพ่วงด้วยตำแหน่ง "แขกของรัฐบาล" ด้วย ได้แก่
- ปธน.สี จิ้นผิง ของจีน
- ปธน.เหงียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม
และผู้นำของมาเยือนไทยในฐานะ แขกของรัฐบาล ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเอเปค ได้แก่
- ปธน.เอมานูว์แอล มาครง ของฝรั่งเศส
- มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด
การมาเยือนไทยในฐานะ "แขกของรัฐบาล" นั้น จะต้องมีภารกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้นนั่นคือ การเข้าเยี่ยมคารวะและการหารือข้อราชการ กล่าวได้ว่าภารกิจนี้ถือเป็นภารกิจหลักที่มีความสําคัญอย่างที่สุดในการเยือนเพราะเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายได้ทําความรู้จัก เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างใกล้ชิด และหารือในประเด็นต่างๆ ตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยเฉพาะธรรมเนียมทางการทูตในการติดต่อสร้างสัมพันธ์ระหว่าง “บุคคลต่อบุคคล” ยังคงเป็นสิ่งที่มีความสําคัญ เพื่อใช้เป็นช่องทางในการเชื่อมต่อระหว่างกันในอนาคต
การเจรจาจะเป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้แสดงท่าทีของตนให้อีกฝ่ายได้รับทราบในเรื่องต่างๆ ทั้ง
ความร่วมมือ การแสวงหาทางออกในข้อขัดข้องต่างๆ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และหากผลเจรจาเป็นเรื่องที่สมประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายแล้ว ย่อมจะเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประเทศให้ดียิ่งขึ้น
แล้วการมาเยือนไทยในฐานะ "แขกของรัฐบาล" ของผู้นำแต่ละประเทศ มีความหมายอย่างไรบ้างต่อรัฐบาลไทย
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ได้วิเคราะห์ให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ เข้าใจอย่างง่ายว่า
ฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสกับไทยนั้นมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างดีในระดับหนึ่งทีเดียว และฝรั่งเศสเองก็มีจุดยืนเรื่องของ รัสเซีย-ยูเครน ที่คล้ายกับไทย นอกจากนั้นแล้วความสัมพันธ์ของ ปธน.มาครง และ ปธน.ปูตินนั้นก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่เลวร้ายต่อกัน
เห็นได้จากการที่ ปธน.มาครง เสนอตัวเป็นคนกลางในการเจรจารูปแบบนอร์มังดี ที่มี รัสเซีย กับ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐฯ และยูเครน เพื่อรักษาข้อตกลงหยุดยิงในภูมิภาคดอนบาส พื้นที่ทางทางตะวันออกของยูเครน และเพื่อจำกัดความใหม่ถึงคำว่าสันติภาพและความมั่นคงในยุโรป ในช่วงเดือน ก.พ. หลังจากที่รัสเซียเริ่มเปิดฉากโจมตียูเครน
ซาอุดีอาระเบีย
นอกจากจะเชิญมาเพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่หายไปร่วม 30 ปีของ ซาอุดีอาระเบีย-ไทยแล้ว ซาอุดีอาระเบียจะเข้าร่วมประชุมเอเปค 2022 อีกด้วย สิ่งที่น่าจับตามองคือ ซาอุดีอาระเบียจะประชุมในแง่ของวิกฤตพลังงานที่เกิดจากปัญหารัสเซีย-ยูเครน
นอกจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศและซาอุดีอาระเบียจะมีการลงนามเอกสารสำคัญ 3 ฉบับ เกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ได้แก่
1.ร่างแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ.2565-2567)
2.ร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดีอาระเบีย-ไทย
3.ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
จีนและเวียดนาม
เป็นที่ทราบกันดีว่าจีนและไทยนั้นต่างมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของ ดอน ปรมัตวินัย รมว.ต่างประเทศของไทย และ หวัง อี้ 1 ในสมาชิกโปลิตบูโร หรือ คณะกรรมการกรมการเมือง และยังพ่วงตำแหน่งล่าสุด รมว.ต่างประเทศของจีน ที่มีความสนิทชิดเชื้อกันยาวนานร่วม 20 ปี และ หวัง อี้ เองก็เป็นที่ไว้วางใจและถือว่าเป็นคนใกล้ชิด ปธน.สี จิ้นผิง มากที่สุดอีกคนด้วย
ย้อนไปเมื่อปี 2559 ในการประชุม G20 ที่หางโจว ประเทศจีน ปธน.สี จิ้นผิง ในฐานะสมาชิก G20 ได้เคยเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะสมาชิก G77 เข้าร่วมประชุมด้วย
ดังนั้นจึงมองได้ว่า จีน-ไทย ล้วนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างลึกซึ้งและยาวนาน การเชิญ ปธน.สี จิ้นผิง เยือนไทยในฐานะ "แขกพิเศษของรัฐบาล" จึงเป็นสิ่งที่ "พี่น้อง" พึงกระทำต่อกัน
ส่วนเวียดนามนั้น จะเห็นได้ว่าเวียดนามมีใกล้ชิดกับจีนมากในขณะนี้ นับตั้งแต่ ปธน.สี จิ้นผิง ได้ครองตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นสมัยที่ 3 เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ปธน.สี ก็เชิญ เหงียน ฟู้ จ่อง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเข้าพบ 1 สัปดาห์หลังการประชุมสมัชชาฯ จีนเสร็จสิ้น ถือว่า เหงียน ฟู้ จ่อง เป็นแขกคนสำคัญต่างชาติคนแรกที่จีนให้เข้าพบ
ในการเยือนไทยของ ปธน.เวียดนามในฐานะ "แขกของรัฐบาล" นั้น เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ในการกระชับความร่วมมือ ส่งเสริมความเชื่อมโยง และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กันทั้งในมิติการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระดับประชาชน อันจะช่วยเร่งรัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมของทั้งสองประเทศ และอนุภูมิภาคภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน
ทั้งนี้กำหนดการการต้อนรับแขกของรัฐบาล ได้แก่
วันที่ 16 พ.ย. ให้การต้อนรับผู้นำเวียดนาม
วันที่ 17 พ.ย. ให้การต้อนรับ ปธน.เอมานูว์แอล มาครง ของฝรั่งเศส และ ปธน.สี จิ้นผิง ของจีน
วันที่ 18 พ.ย. ให้การต้อนรับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย
อ่านข่าวเพิ่ม : ผู้นำเวียดนามถึงไทย รัฐบาลเปิดทำเนียบถกทวิภาคี
ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ,ทำเนียบรัฐบาล