ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิพากษ์แนวคิดรัฐ แก้ปัญหาปืนเถื่อน

อาชญากรรม
16 พ.ย. 65
15:25
2,007
Logo Thai PBS
วิพากษ์แนวคิดรัฐ แก้ปัญหาปืนเถื่อน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาอาวุธปืนของภาครัฐ คือ การเปิดให้ขึ้นทะเบียนปืนเถื่อน ภาคเอกชนมองว่า มาตรการนี้อาจไม่ใช่ทางออก โดยเปรีบบเทียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2518 ที่เคยเปิดให้ขึ้นทะเบียนปืนเถื่อนมาครั้งหนึ่งแล้ว

1 พ.ย. 2565 กรมการปกครองส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ลงนามโดยนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2565

ในเอกสารระบุว่า กรมการปกครองมีประกาศ เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้บุคคลที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน โดยมิชอบด้วยกฎหมายนำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนดังกล่าวมาขอรับอนุญาตเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่ต้องรับโทษ

สำหรับการครอบครองและจำหน่ายอาวุธปืนที่กฎหมายไม่อนุญาตให้มีและใช้ไว้ในครอบครองหรือจำหน่าย เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำลายสูงเป็นอันตรายต่อประชาชน ก็ให้ผู้ที่มีอาวุธปืนดังกล่าวไว้ในครอบครองนำเอาอาวุธปืนนั้นมอบให้แก่หน่วยทหารที่ใกล้ที่สุดภายในเวลาที่กำหนดโดยไม่ต้องรับโทษโดยทางราชการไม่จำต้องชดใช้ราคาและให้ตกเป็นของแผ่นดิน

และให้นายทะเบียนท้องที่มีอำนาจจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธปืน เช่น การนำมาทำเครื่องหมายทะเบียน การโอน การแจ้งย้ายไว้เป็นหลักฐาน รวมทั้งอาวุธปืนที่นำมาขึ้นทะเบียน เพื่อขออนุญาตตาม พ.ร.บ.นี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบความถูกต้องทางทะเบียนอาวุธปืน การตรวจสอบหาอาวุธปืนที่ใช้ในการก่อเหตุอาชญากรรมหรือเพื่อประโยชน์อื่นใดในทางราชการ

The EXIT สัมภาษณ์นายฐิติธร บุพพารัมณีย์ นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจอาวุธปืนแห่งประเทศไทย ประเด็นแนวทางภาครัฐในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืน เปิดมุมมองภาคเอกชนต่อการเข้าถึงอาวุธปืนของคนไทยในปัจจุบัน

ขั้นตอนซื้อปืนผ่านร้านค้า

ฐิติธร  บุพพารัมณีย์  นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจอาวุธปืนแห่งประเทศไทย

ฐิติธร บุพพารัมณีย์ นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจอาวุธปืนแห่งประเทศไทย

ฐิติธร บุพพารัมณีย์ นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจอาวุธปืนแห่งประเทศไทย

 

ปกติเมื่อลูกค้าเข้ามาซื้ออาวุธปืน ลูกค้าจะถือใบ ป.3 มาแล้วเลือกซื้ออาวุธปืนตามที่เขาต้องการและเมื่อเกิดการซื้อขาย ทางร้านก็จะนำใบ ป.3 ไปดำเนินการทางทะเบียนต่อไป ทำตัดบัญชีร้านค้าเพราะทุกอย่างเรามีเอกสารที่จะต้องดำเนินการทางทะเบียนอยู่

เอกสารก็คือใบ ป.3 ตัวจริง ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และดำเนินการไปตัดทะเบียนปืนที่กรมการปกครอง (วังไชยา) เพราะร้านปืนเราอยู่ในกรุงเทพ ถ้าเขามีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด เช่น เป็น ป.3 ต่างจังหวัด ทางร้านก็จะได้เป็นใบคู่มือประจำปืน หลังจากได้รับใบคู่มือประจำปืนร้านค้าก็จะส่งใบคู่มือประจำปืนกลับไปยังผู้ซื้อ เพื่อให้เขานำอาวุธปืนและใบคู่มือไปตรวจที่อำเภอเพื่อออกเป็นใบ ป.4 หรือใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน แต่ถ้าเขามีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพ ทางร้านก็จะดำเนินการทางทะเบียนจนกระทั่งออกเป็นใบ ป.4 แล้วก็มอบใบ ป.4 ให้กับเขา เพราะเป็นขั้นตอนทางกฎหมายที่ร้านค้าสามารถรับมอบจากทางลูกค้าดำเนินการทางทะเบียนให้เรียบร้อยได้

ทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้ ด้วยระบบการควบคุม ณ ปัจจุบันถือว่าดีระดับหนึ่งอยู่แล้ว ไม่ว่าการที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตก็มีการตรวจสอบคุณสมบัติ จนกระทั่งมีการซื้อขาย หรือ เมื่อซื้อขาย อาวุธปืนทุกกระบอกถูกทำทะเบียน มีบัญชีมีทุกอย่างตรวจสอบได้

อาวุธปืน 1 กระบอก เราสามารถไล่ตามได้ว่าถูกขายไปยังใคร ใครเป็นผู้ครอบครอง หากบุคคลผู้นั้นนำอาวุธปืนไปขายต่ออย่างถูกต้อง อาวุธปืนนั้นก็จะต้องถูกโอนถ่ายไปยังบุคคลที่ 3 ซึ่งจะมีหลักฐานเอกสารยืนยันว่าเขาได้ขายอาวุธปืนออกไปแล้ว ทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้หมด

กรณีนายทะเบียนท้องที่ออกใบ ป.3 เอื้อค้าอาวุธข้ามชาติ 

ด้วยระบบมันมีการตรวจสอบอยู่แล้วมันจึงสามารถรู้ว่าใครเป็นผู้ดำเนินการ สามารถออกใบอนุญาตได้ถึง 600 กระบอก (คดีเบล 1,000 กระบอก) ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าในระบบไม่มีปัญหา แต่น่าจะเป็นปัญหาที่ตัวบุคคลมากกว่า ในการเข้ามากระทำผิด ดังนั้นเรื่องปัญหาทางระบบ ทางนายทะเบียนสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดอยู่แล้ว ว่าบุคคลผู้นั้นเคยมายื่นขอ ป.3 เมื่อไหร่ เรื่องนี้ทางระบบสามารถตรวจสอบได้

เรื่องนี้ผมมองว่ายังไงก็เป็นความผิดส่วนบุคคลไม่ใช่ระบบแน่นอน

เพราะว่าในระบบที่ดำเนินงานมาก็เป็นระยะเวลาหลาย 10 ปี เป็นระบบคอมพิวเตอร์มันสามารถตรวจสอบการเดินทางของเอกสารต่าง ๆ ได้หมดอยู่แล้ว ดังนั้นระบบไม่มีปัญหาแน่นอน"

ประชาชนซื้ออาวุธปืนได้กี่กระบอก

 

อยู่ที่คุณสมบัติเพราะถามว่าปัจจุบันนี้ หลายคนซื้ออาวุธปืนเพื่อการสะสม ด้วยความสวยงาม ด้วยคุณสมบัติหลายอย่าง ทำให้บางคนซื้อปืนมากว่า 1 กระบอก มีจำนวนพอสมควร แต่บุคคลทุกคนที่ซื้ออาวุธปืนไปเขาต้องผ่านคุณสมบัติตามมาตรา 13 ไม่เป็นบุคคลต้องห้าม ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เมื่อเขาไม่ใช่บุคคลต้องห้ามแล้ว การที่เขาครองอาวุธปืนเยอะก็ไม่ใช่ปัญหา

ต้องเรียนอย่างนี้ว่าปัญหาอาชญากรรมโดยใช้อาวุธปืน บุคคลที่ถืออาวุธปืนเป็นจำนวนมาก็ไม่เคยสร้างปัญหา เพราะ 1.อาวุธปืนมีราคาสูง 2.มีระบบการควบคุม 3.มีการยื่นขอเอกสารทุกครั้งในการยื่นขอปืนกระบอกใหม่ในการดำเนินการทุกอย่างมันอยู่ภายใต้กฎหมาย ดังนั้นเรื่องอาวุธปืนในระบบไม่มีปัญหา แต่เรื่องบุคคลอันนี้อยู่ที่ทางเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ

โครงการที่จำหน่ายอาวุธปืนในปัจจุบัน

มีปืนร้านค้าและปืนโครงการสวัสดิการ กรณีร้านค้าก็คือผู้ได้รับอนุญาตให้สั่งนำเข้าและจำหน่ายอาวุธปืนตามใบอนุญาตที่ได้รับ ใน 1 ปี ร้านค้าจะจำหน่ายได้อยู่ที่ไม่เกิน 15,000 กระบอก ในส่วนของปืนสั้น ส่วนปืนยาวสูงสุดไม่เกิน 20,000 กว่ากระบอก ทั้งหมดทุกร้านค้าทั่วประเทศไทย

ร้านค้าปืนมีใบอนุญาตทั้งหมดในประเทศไทยประมาณ 500 กว่าใบอนุญาต ในหนึ่งใบอนุญาตสามารถนำเข้าอาวุธปืนสั้นได้เพียง 30 กระบอก ปืนยาวได้เพียง 50 กระบอก ต่อ 1 โควตา เรามีอยู่ 500 โควตาก็คูณเลยครับ สูงสุดที่เราสั่งนำเข้าได้ก็คือไม่เกิน 15,000 กระบอกต่อปี บางร้านมี 3 โควตา เขาก็นำเข้ามาขายได้แค่ปีละ 90 กระบอก ปืนยาวก็ไม่เกิน 150 กระบอก ต่อร้านค้า ดังนั้นจำนวนของแต่ละร้านค้าไม่ได้มีจำหน่ายอาวุธปืนเป็นจำนวนมาก

ในกลุ่มปืนสวัสดิการก็เป็นในส่วนของตามนโยบายของรัฐที่อยากจะให้ข้าราชการมีอาวุธปืนราคาถูกไว้ใช้งานและปฏิบัติหน้าที่

ขั้นตอนก่อนอาวุธปืน 1 กระบอกถึงมือประชาชน

 

การสั่งนำเข้าอาวุธปืน 1 กระบอก ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าแบบ ป.2 จากนั้นเมื่อเราส่งใบอนุญาตนั้นไปต่างประเทศแล้ว ต่างประเทศก็ต้องทำใบอนุญาตส่งออก พอหลังจากได้ใบอนุญาตส่งออกจากต่างประเทศแล้วปืนก็จะถูกส่งเข้ามายังประเทศไทยเมื่อส่งเข้ามาผ่านพิธีการทางศุลกากร

ร้านค้าแต่ละร้านค้าต้องนำอาวุธปืนไปแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อทำหมายเลขประจำปืน ปืนทุกกระบอกจะถูกทำหมายเลขประจำปืน เก็บข้อมูลรุ่น ยี่ห้อ ขนาด หลังจากนั้นก็ทำบันทึก แล้วร้านค้าจึงสามารถนำอาวุธปืนดังกล่าวออกจำหน่ายได้ ระบบสวัสดิการกับร้านค้าทำเหมือนกัน ด้วยระบบทะเบียนที่มีมันทำให้สามารถไล่ตามได้ว่าปืนดังกล่าวนี้นำเข้ามาโดยร้านค้าไหน โดยโครงการสวัสดิการไหนสามารถตรวจสอบได้หมด

ความแตกต่างราคาปืนร้านค้า กับ โครงการสวัสดิการ

ด้วยร้านค้ามีจำนวนการสั่งนำเข้าจำกัดในแต่ละปี ดังนั้นราคาร้านค้าจึงเป็นราคาทั่วไปที่ขายให้กับบุคคลทั่วไป จึงมีราคาที่ค่อนข้างสูงพอสมควร แต่ด้วยสวัสดิการเป็นโครงการเฉพาะและมุ่งเน้นให้ข้าราชการสามารถซื้ออาวุธปืนได้ในราคาย่อมเยาจึงมีราคาถูกกว่า แต่มีร้านค้าบางร้านที่มีปืนสวัสดิการจำหน่าย

ในมุมมองของผู้ประกอบการก็อยากให้ทางรัฐมีการตรวจสอบติดตามทางเจ้าหน้าที่ในการออกใบอนุญาต ควบคุมให้รัดกุมมากขึ้น  เพราะสุดท้ายแล้วปัญหาที่เกิดมันเป็นปัญหาของสังคมและได้รับผลกระทบทั่วกัน

ในกลุ่มร้านค้าพวกเราก็ปฏิบัติตามกฎหมายมาโดยตลอดและรวมทั้งเรื่องเอกสารต่าง ๆ ถ้าหากมาซื้อปืนร้านค้า ร้านค้าดำเนินการอย่างถูกต้องแน่นอน ผู้ซื้อก็เป็นบุคคลที่อย่างน้อย ๆ อยากให้รัฐคัดกรองไม่อยากให้เกิดปัญหาแบบนี้

แนวทางรัฐแก้ปัญหาอาวุธปืน เปรียบเทียบปี 2518 

 

ตอนจดทะเบียนปืนเถื่อนปี 2518 ผมฟังมาจากผู้ใหญ่อีกทีหนึ่ง ในปีนั้นมีการเปิดอนุญาตให้นำปืนเถื่อนมาจดทะเบียนในปี 2518 ใครมีอาวุธปืนก็สามารถมาขึ้นทะเบียนได้ ไม่ว่าจะเป็นปืนไทยประดิษฐ์ หรือปืนที่ไม่มีหมายเลขประจำปืน ก็ทำให้คนเข้ามาจดทะเบียนซึ่งในปีนั้นปีเดียวทำให้มีอาวุธปืนเพิ่มขึ้นในตลาดหลายแสนกระบอก

แต่ด้วยปัญหาของงานทะเบียนเป็นกระดาษส่งผลให้ปืนบางกระบอกไม่มี serial number มีแต่เลข กท. หมายเลขประจำปืน ทำให้รัฐไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งปืนที่ถูกขโมยไปแล้วเจ้าของไม่ได้มาแจ้งความไว้ก่อน กลายเป็นว่า คนร้ายสามารถนำปืนเหล่านั้นมาจดทะเบียนได้

ผมมองว่ามันเป็นปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา เพราะบทสุดท้ายแล้วการผลิตอาวุธปืนในเมืองไทย คนกระทำผิดกฎหมาย ประกอบปืนเถื่อน ผลิตปืนเถื่อน เขาก็จะผลิตออกมาขายโดยไม่สนใจหรอกว่าคนที่ซื้อไปจะนำไปขึ้นทะเบียนปืนเถื่อนได้หรือไม่ได้

 

บทสุดท้ายแล้วคนที่ซื้อสิ่งผิดกฎหมายเขาย่อมไม่ใช่สุจริตชน ยิ่งรัฐไปส่งเสริมก็จะทำให้คนเหล่านี้เข้าหาอาวุธปืนเถื่อนมากขึ้น เป็นการสร้างปัญหาในอนาคตที่หนักขึ้น

จากปี 2518 ก็ยังมีผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้ที่ปืน 1 กระบอก มีทะเบียนปืนเลขเดียวแต่มีปืนจดสวมทะเบียนเลขเดียวกัน 4 - 10 กระบอก นายทะเบียนก็ไม่รู้ว่าจะให้ปืนกระบอกไหนเป็นปืนที่ถูกต้อง หรือจะให้ไปยกเลิกทั้ง 10 กระบอก ก็ไม่รู้ว่าจะโดนอะไรหรือเปล่าก็เลยเป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบันนี้

ปืนเหล่านี้บางอย่างมันไม่มีคุณภาพเพราะผลิตในเมืองไทย และคนที่ทำผิดกฎหมายหากรู้ว่ารัฐเปิดโอกาสให้เขาจดปืนเถื่อนได้เขาอาจจะสั่งอะไหล่อาวุธปืน ลำกล้องปืน เอามาประกอบและผลิตอาวุธปืนในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น และนำมาจดทะเบียนขาย ขายได้ ขายไม่ได้เขาไม่มองเพราะคนทำผิด เขาย่อมไม่เคารพกฎหมาย

ด้วยปัญหาอาชญากรรมโดยใช้อาวุธปืนร้อยละ 80-90 ณ ปัจจุบัน ก็ยังเป็นอาวุธปืนเถื่อนไม่ว่าเป็นอาวุธปืน blank Gun ที่ถูกนำมาดัดแปลงใช้ยิงกระสุนจริงได้ ตรงนี้ต่างหากที่สร้างปัญหา

ปืนจดถูกกฎหมาย ปืนที่มีทะเบียน มันสามารถไล่ตามได้อยู่แล้วว่าปืนกระบอกนี้เคยครอบครองโดยใคร ต่อให้ปืนเหล่านี้อยู่ในมือของอาชญากร ก็สามารถไปไล่เช็คได้ว่าอาชญากรไปซื้อมาหรือไปขโมยมา ถ้าเป็นปืนที่ขโมยมาเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องยึดปืน และก็นำไปส่งมอบคืนให้กับเจ้าของปืนตัวจริง

ดังนั้น ตรงนี้มันสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว แบบเดียวกับเรื่องทะเบียนรถยนต์ รถยนต์ในเมืองไทยทุกคันมีทะเบียนสามารถไล่ได้ สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นรถที่นำเข้าอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ จดประกอบในเมืองไทยอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ หรือเป็นรถสวมทะเบียน

ถ้าปัญหารถยนต์สวมทะเบียนในเมืองไทยถูกแก้โดยการเปิดให้รถเถื่อนสามารถจดทะเบียนได้ ลองคิดว่าจำนวนรถยนต์ที่จะเพิ่มเข้ามาในประเทศไทยจะมีจำนวนเท่าไร  คนที่ไม่ใช่สุจริตชนจะใช้ช่องทางนี้ประกอบอาชีพสร้างความเสียหายให้กับวงการและธุรกิจร้านค้าหรือบริษัทรถยนต์ที่ทำถูกกฎหมายมากแค่ไหน อันนี้อยากฝากให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยคิดด้วย

 ยกเครื่องจัดระเบียบปืนหลวง-ปืนสวัสดิการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง