ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มองอนาคตการเมือง "ประยุทธ์" หลังจบประชุมเอเปค

การเมือง
16 พ.ย. 65
10:29
799
Logo Thai PBS
มองอนาคตการเมือง "ประยุทธ์" หลังจบประชุมเอเปค
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักรัฐศาสตร์มองอนาคตทางการเมือง หลังเอเปค เชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์" จะมีความชัดเจนว่าจะไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ คาดคะแนนนิยม "พล.อ.ประยุทธ์" ช่วยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

วันนี้ (16 พ.ย.2565) นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา นิด้า วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย โดยเฉพาะอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปค ในรายการ มุมการเมือง ทางไทยพีบีเอส โดยระบุว่า 

หลังการประชุมเอเปคเสร็จสิ้น คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯจะเปิดตัวว่าจะเล่นการเมืองต่อหรือไม่ หรือจะอยู่ในพรรคใด ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ ส.ส.หลากหลายพรรคจะโยกย้ายพรรคกันมากขึ้นเพราะเป็นเช่วงเวลาที่รัฐบาลใกล้จะครบวาระ

เชื่อว่าขณะนี้คงมีการพูดคุยและตัดสินใจกันอยู่บ้างแล้ว ในหลายพรรค หลายกลุ่ม หลังเอเปคก็ถือว่าหมดเงื่อนไขที่จะเชื่อมโยงกับกิจกรรมต่าง ๆ ในระดับประเทศและนานาชาติ อาจทำให้บรรดานักการเมืองได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นว่าตนเองสังกัดพรรคการเมืองใด

เชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์" ไป "รวมไทยสร้างชาติ"

นายพิชาย ยังมองว่า กรณีนายกฯจะไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่นั้น เชื่อว่า นายกฯจะไปร่วมงานกันค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากตามที่มีข่าวมาตลอดมีสัญญาณที่แสดงให้เห็นค่อนข้างมาก

ขณะที่เหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาตินั้นเข้าใจว่า พรรคดังกล่าวจัดตั้งขึ้นโดยบุคคลใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในทางการเมือง และเป็นกลุ่มที่ พล.อ.ประยุทธ์ ค่อนข้างไว้วางใจ

พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคที่ยังไม่มีบทบาทมากนัก ยังเป็นพรรคที่ดูใส ๆ เป็นพรรคที่ยังไม่มีสิ่งใดมาแปดเปื้อน ให้มันหม่น ๆ ซึ่งพรรคแบบนี้ก็คงโดนใจ พล.อ.ประยุทธ์ 

ทั้งนี้ แม้ว่า พรรครวมไทยสร้างชาติจะก่อตั้งมาแล้วระยะหนึ่ง แต่ชื่อเสียงก็ยังไม่มากนัก และในการทำผลสำรวจของนิด้า ก็พบว่า เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมไม่ถึง 1 % เพราะฉะนั้นหากพรรคยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็เชื่อว่า จะไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ซึ่ง หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไปร่วมงานกับ พรรคดังกล่าวก็คาดว่า พรรคจะมีคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผลสำรวจยังพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีคะแนนนิยมกว่า 14 % ซึ่งจะช่วยให้แฟนคลับของ พล.อ.ประยุทธ์ จะตามไปและให้ความนิยมพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย

เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้ามีความพยายามให้พรรครวมไทยสร้างชาติได้คะแนนเสียง เกิน 25 เสียงเพื่อที่จะสามารถเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯเข้าไปในสภาฯได้

3 ปัจจัย ความนิยม "พล.อ.ประยุทธ์" 

นายพิชาย ยังมองว่า ปัจจัยที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงได้รับความนิยมคือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นที่นิยมของชนชั้นกลาง ที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมและประชาชนทั่วไปบางส่วนที่มีลักษณะเฉพาะ โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป

ขณะที่ภาพลักษณ์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเปนภาพลักษณ์ที่โดดเด่น ทั้งนี้ผู้ที่นิยม พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์

ต่อมาคือ ภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์ เพราะอย่างน้อยในสายตาของคนกลุ่มนี้ ก็ไม่ได้มีข่าวอื้อฉาวเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำงาน

ขณะที่ เรื่องของผลงานต่าง เช่น โครงการคนละครึ่ง สวัสดิการประชารัฐ โดยเงื่อนไข 3 ตัวนี้ ก็อาจทำให้ประชาชนที่มีกล่มสูงอายุ ชนชั้นกลางและประชาชนทั่วไป ยังคงชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ราว 14 %

อนาคต "พลังประชารัฐ" ยามไร้ "พล.อ.ประยุทธ์"

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่ไร้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น นายพิชาย มองว่า ก่อนหน้าที่ในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ได้รับคะแนนอย่างมากนั้นมาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1.จาก ส.ส.เขต และการจัดตั้งหัวคะแนนของ ส.ส.เขต หรือกลุ่มบ้านใหญ่ต่าง ๆ และส่วนที่ 2 คือ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงนั้นซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มีคะแนนสูงมากราว 30 %

เมื่อมาถึงช่วงนี้มีการแตกตัวไปก็จะทำให้พรรคพลังประชารัฐไม่ได้รับคะแนนนิยมจากตัว พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นคะแนนพรรค ซึ่งจะหายไปราว 13-14 %  ซึ่งเมื่อไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็จะหอบคะแนนนิยมของตัวเองไปด้วย คาดว่าพรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาจากคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งนี้ ทั้ง 2 พรรคทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่างก็มีเส้นทางต่างกันโดยพรรคพลังประชารัฐมียุทธศาสตร์โดยเน้นเอาชัยชนะในเขตเลือกตั้งของบรรดา ส.ส.ที่มีอยู่ ทั้งสามมิตร ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก หรือ ในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล

ขณะที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้คะแนนภาพรวมของพรรคใน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ยกเว้นแต่ว่า กลุ่มของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน จะย้ายตาม พล.อ.ประยุทธ์ ไปด้วย ทำให้อาจจะได้ ส.ส.เขต ในแถบ จ.ชลบุรี

อย่างไรก็ตาม พื้นฐานแล้วทั้ง 2 พรรคมีฐานคะแนนคนละส่วนกัน แต่ก็อาจจะไม่มากเท่ากับช่วงปี 2562 ซึ่ง ขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ มีคะแนนนิยมกว่า 30 % มาเหลือ 13-14 คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อก็จะลดลง

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ก็ต้องลุ้นในเขตเลือกตั้งที่จะต้องต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยที่มาแรง และพรรคภูมิใจไทย ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต

"ยุบสภาฯ" เมื่อทุกอย่างลงตัว

ขณะที่การยุบสภา นั้นขึ้นอยู่กับความลงตัวทางการเมือง และการประเมินของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า การยบุสภาฯช่วงใดที่จะทำให้ตนเองได้ประโยชน์ทางการเมืองมากที่สุด เช่น สามารถที่จะสร้างพรรคที่มีองค์ประกอบของ ส.ส.ที่มีศักยภาพเพียงพอในการแข่งขัน ซึ่งก็คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ และจัดการปัญหาได้ลงตัวเมื่อใด หรือ ท่าทีทางการเมืองของตนเองได้ลงตัว ก็จะยุบสภาฯ ซึ่งอาจทำให้ 2 ช่วง คือ ต้นปีใหม่ หรือ ปลายเดือน ก.พ.ต้นเดือน มี.ค.66 ซึ่งก็ใกล้ครบวาระของรัฐบาล

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง