จากกรณีที่ไทยพีบีเอสได้รายงานข่าวในข่าวภาคค่ำและในเว็บไซต์ข่าวไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา เรื่องเมนูที่จะใช้ในงานเลี้ยงผู้นำเขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) โดยอ้างคำสัมภาษณ์ของผู้ประกอบการในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่า ปลากุเลาเค็มตากใบที่จะใช้ในงานเลี้ยงไม่ใช่ปลากุเลาจากตากใบ ต่อมา น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ชี้แจงว่า ปลากุเลาที่นำมาใช้ปรุงอาหารได้สั่งซื้อมาจากร้านป้าอ้วน ซึ่งเป็นปลากุเลาเค็มตากใบจริง
ไทยพีบีเอสขอชี้แจง ดังต่อไปนี้
1. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ อ.ตากใบ ด้วยความตั้งใจที่จะนำเสนอความภาคภูมิใจของชาวตากใบที่ผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการหลายร้านว่า ไม่มีการสั่งซื้อปลากุเลาจากร้านในพื้นที่ รวมถึงในไลน์กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลากุเลาตากใบ ก็มีการสอบถามกันว่ารัฐบาลซื้อปลาจากร้านไหน แต่ไม่มีใครยืนยันว่าได้รับการสั่งซื้อ
ก่อนหน้านี้รัฐบาลประชาสัมพันธ์ว่า ได้นำปลากุเลาเค็มตากใบมาใช้ปรุงอาหารในงานเลี้ยงผู้นำเอเปค แต่มีหน่วยงานของรัฐนำภาพวิสาหกิจชุมชนปลากุเลาเค็มในอีกจังหวัดหนึ่ง ไปประกอบข้อมูลปลากุเลาเค็มจากตากใบ จึงทำให้ผู้ประกอบการที่ตากใบเห็นว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ของชุมชน
2. ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่ตากใบรายใหญ่หลายราย ซึ่งให้ข้อมูลตรงกันว่า รู้สึกผิดหวังที่ไม่มีการสั่งซื้อปลากุเลาเค็มตากใบ และยังใช้ภาพของวิสาหกิจชุมชนที่อื่นประกอบการประชาสัมพันธ์อีกด้วย
3. หลังการนำเสนอในข่าวภาคค่ำของไทยพีบีเอสและเว็บไซต์ข่าวไทยพีบีเอส ต่อมาได้มีคำชี้แจงจาก น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ยืนยันว่า ได้สั่งซื้อปลากุเลาเค็มตากใบจากร้านป้าอ้วน ไทยพีบีเอสจึงได้นำเสนอข้อมูลนี้ในข่าวภาคดึก และเว็บไซต์ข่าวไทยพีบีเอส ต่อมาร้านป้าอ้วนชี้แจงผ่านเพจเฟซบุ๊ก ว่า “ก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่มาซื้อปลากุเลาเค็มไปจำนวน 1 ตัว เพื่อนำไปชิม กระทั่งมีการสั่งซื้อผ่านออนไลน์ เนื่องจากมีการซื้อวันละหลายหมื่นบาท ในช่วง 2-3 วัน ที่ผ่านมา หลังจากมีกระแสข่าวเอเปค ทำให้ทางร้านไม่ทันได้ตรวจสอบ ซึ่งยืนยันว่าหน่วยงานภาครัฐ โดยตัวแทนได้สั่งผ่านระบบออนไลน์ไป จึงเกิดข้อผิดพลาดกันในกลุ่มผู้ค้าปลากุเลาเค็ม ตากใบ”
4. ไทยพีบีเอสขอยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างความเข้าใจผิดในกรณีดังกล่าว การนำเสนอข่าวนี้เป็นการสะท้อนความรู้สึกและความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ที่กังวลต่อภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาภาคภูมิใจ
5. ไทยพีบีเอส ยอมรับว่า การนำเสนอข่าวดังกล่าวขาดความรอบด้าน โดยมิได้ตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการชี้แจงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ไทยพีบีเอสก็นำเสนอข้อมูลที่ได้รับในเวลาต่อมา
6. กองบรรณาธิการไทยพีบีเอสขออภัยในความบกพร่อง ที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องดังกล่าว และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น ตามระเบียบขององค์กร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต
7. ไทยพีบีเอสขอยืนยันเจตนารมณ์ในฐานะสื่อสาธารณะในการรายงานข่าวและนำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้องรอบด้าน เป็นธรรม และให้ความสำคัญกับการประชุมเอเปค ซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับการสะท้อนความรู้สึก ความคิดเห็นของประชาชนทุกระดับ