นายทะเบียนท้องที่บางคนเอี่ยวค้าปืนข้ามชาติ
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดูแลงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ระบุว่า เครือข่ายค้าปืนข้ามชาติ ฉายา “เบล 1,000 กระบอก” ที่ถูกจับเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 พบการทุจริตออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน หรือ ใบ ป.3
จากการตรวจสอบพบนายทะเบียนท้องที่ในอำเภอหนึ่ง ออกใบอนุญาตซื้ออาวุธปืน หรือ ใบ ป.3 ให้คนคนเดียวเกือบ 600 กระบอก วิธีการคือเมื่อออกใบ ป.3 และนำไปซื้ออาวุธปืนแล้ว ก็ไปขอออกใบ ป.3 ใหม่ เพื่อนำไปซื้ออาวุธปืนอีกครั้ง โดยไม่ไปแจ้งขึ้นใบ ป.4 หรือ ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน
"ที่เราเจอตอนนี้ คือ ปืนโครงการสวัสดิการอื่น ๆ แต่ในโครงการสวัสดิการของตำรวจเอง ถูกทำโดยกองพลาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอาออกไปแบบนั้นไม่ได้เพราะถูกคุมโดยการจองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ"
กรณีเบล 1,000 กระบอก เป็นการสืบสวนอย่างต่อเนื่อง เพราะอาวุธปืนถูกนำไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่บางพื้นที่กำลังสู้รบกัน ปืนเป็นที่ต้องการของท้องตลาดในเว็บไซต์ก็มี และไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 2 ฝั่ง ดังนั้น เพื่อป้องกันปิดช่องไม่ให้เกิดกับปืนโครงการสวัสดิการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเราเจอปัญหาที่เกิดขึ้นเราเลยมาอุดช่องว่างของเราด้วย
ทำเป็นขบวนการเฉพาะกลุ่มคนไม่กี่คนในเครือข่ายนี้ ทุกองค์กรมีทั้งคนดีและคนไม่ดี มันเป็นเฉพาะบุคคลที่เห็นช่องว่างของกฎหมายและมีอำนาจก็ไปทำแบบนั้น ซึ่งเราก็ดำเนินการจับกุมแล้ว
“การที่เราเก็บกวาดบ้านตัวเองก็เพื่อความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนเป็นที่พึ่งให้พี่น้องประชาชน เรียกความเชื่อมั่นและความศรัทธาจากประชาชนที่มีต่อตำรวจให้กลับมา”
ยกเครื่องอาวุธปืนทั้งระบบ
ขณะนี้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นประธานพิจารณาดำเนินการจัดระเบียบเกี่ยวกับอาวุธปืนทั้งระบบ ทั้งอาวุธปืนหลวง และอาวุธปืนสวัสดิการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากที่ผ่านมามีทั้งเหตุการณ์ขโมยปืนหลวง , นำปืนสวัสดิการไปก่ออาชญากรรม และ กรณีทุจริตซื้อปืนสวัสดิการหน่วยงานรัฐเครือข่ายค้าอาวุธเบล 1,000 กระบอก
เป้าหมายการจัดระเบียบเพื่อป้องกันการยัก ย้าย ถ่ายเท หรือขโมย ออกไป หรือนำไปจำนำ ขณะนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งระบบ รวมถึงการควบคุม ใบ ป.3 และ ใบ ป.4 ที่ออกใบอนุญาตไปแล้ว ตัดยอดแล้วปืนหายไปไหน ต้องทำทั้งระบบเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ต้องพิจารณาว่าทั้ง 2 หน่วยงาน ประเด็นไหนที่ช่วยกันได้
ระบบการตรวจสอบเอกสารทางธุรการเรายังไม่ได้พัฒนาเอา AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานได้เหมือนมนุษย์มาใช้
ยกเลิกปืนสวัสดิการ หรือ ห้ามโอน หรือ ขยายเวลาโอน
สำหรับปัญหาตำรวจไม่นำปืนหลวงในระบบไปใช้จะมีการพิจารณาทบทวน ขณะนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีแนวคิดนำระบบการเบิกจ่ายอาวุธปืนแบบกองทัพสหรัฐอเมริกามาใช้ ซึ่งต้องแก้ไขระเบียบว่าจะทำอย่างไรให้ตำรวจใช้ปืนของหลวง และ หากมีเหตุที่ต้องชดใช้ ต้องชดใช้ในราคาปกติ
ส่วนการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอาวุธปืนโครงการสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องนำประเด็นนี้เข้าพูดคุยในคณะกรรมการพิจารณาที่จะจัดตั้งขึ้น เพราะกรณีที่มีความเห็นให้ตำรวจใช้ปืนหลวงทั้งหมดเพื่อยกเลิกโครงการปืนสวัสดิการนั้น ต้องมีการแก้ไขระเบียบต่างๆ เพื่อจูงใจให้ตำรวจเบิกปืนหลวงไปใช้งาน
อีกแนวทางที่เตรียมไว้ในการพิจารณา กรณียังจำเป็นต้องมีโครงการปืนสวัสดิการ คือ อาจกำหนดว่า “ห้ามโอนยกเว้นมรดก” หรือ ขยายระยะเวลาที่สามารถโอนขายได้ จากเดิมอยู่ที่ 5 ปี เป็น “ห้ามโอนภายใน 10 หรือ 15 ปี” เพื่อป้องกันการซื้อมาถือครองในระยะสั้น 5 ปี แล้วโอนขายได้
เราต้องการปิดประเด็นต่าง ๆ เพื่อลดข้อครหา หากในวันข้างหน้ามีกรณีต่าง ๆ เกิดขึ้นจะได้ตอบได้ว่า เราได้ทำแบบนี้แล้วแบบนั้นแล้วเพื่อเป็นการปิดช่องว่าง