ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประเทศประสบ "ภัยแล้ง" ตั้งกลุ่มพันธมิตรรับมืออากาศเลวร้าย

ต่างประเทศ
9 พ.ย. 65
08:23
388
Logo Thai PBS
ประเทศประสบ "ภัยแล้ง" ตั้งกลุ่มพันธมิตรรับมืออากาศเลวร้าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประชุมสภาพภูมิอากาศ COP27 หลายประเทศใช้เวทีนี้สะท้อนปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ขณะที่กลุ่มประเทศประสบปัญหาภัยแล้งประกาศแผนตั้งกลุ่มพันธมิตร รับมือกับสภาพอากาศเลวร้าย

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2565 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า กลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้ง นำโดยเซเนกัลและสเปน ประกาศแผนการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตร ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันระดมทรัพยากรต่อสู้กับภัยแล้ง ด้วยการแบ่งปันเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ ซึ่งการเปิดตัวกลุ่มพันธมิตรในครั้งนี้ มีขึ้นในระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP27)

ผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ระบุว่า วิทยาศาสตร์กำลังบ่งชี้ว่าเราจะเผชิญภัยแล้งอีกหลายรอบ

นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ทั่วโลกเผชิญกับภัยแล้งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29 สาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่า และการบริหารจัดการที่ดินที่ย่ำแย่ จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น เพื่อรับมือกับภัยแล้งในครั้งต่อๆ ไป

ผู้นำปากีสถานเรียกร้องค่าชดเชยปัญหาโลกร้อน

ขณะที่นายกรัฐมนตรีของปากีสถาน จัดการแถลงข่าวนอกรอบ เรียกร้องให้ที่ประชุม COP27 หารือเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น การผ่อนปรนการชำระหนี้ การให้เงินกู้และเงินชดเชยความเสียหาย โดยมองว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นตัวการที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากเป็นประวัติการณ์จนเกิดภาวะโลกร้อน

Shehbaz Sharif นายกรัฐมนตรีปากีสถาน

Shehbaz Sharif นายกรัฐมนตรีปากีสถาน

Shehbaz Sharif นายกรัฐมนตรีปากีสถาน

พร้อมเรียกร้องให้ที่ประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G20) ที่กำลังจะจัดขึ้นที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย หารือในประเด็นเหล่านี้ เพื่อหาทางช่วยเหลือประเทศรายได้ปานกลางอย่างปากีสถาน ซึ่งปี 2022 เผชิญอุทกภัยร้ายแรง สร้างความเสียหายประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ในการประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ มีการพูดถึงกองทุนความสูญเสียและความเสียหาย หรือ Loss and Damage Fund ซึ่งหัวข้อดังกล่าวถูกนำเข้าสู่วาระการประชุมใน COP27 ที่อียิปต์ได้เป็นครั้งแรก โดยหลักการของกองทุนนี้คือการเก็บเงินจากประเทศร่ำรวย เพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าชดเชยความสูญเสียและความเสียหายจากภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานะยากจนกว่า

แนวทางการเก็บเงินเข้ากองทุนเป็นอย่างไร ?

เบื้องต้น มีการเสนอให้เก็บภาษีจากบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่ฟันกำไรจากการขายพลังงานเป็นกอบเป็นกำ แต่บริษัทเหล่านั้นออกมาคัดค้านข้อเสนอนี้ โดยให้เหตุผลว่า การเก็บภาษีเท่ากับจะทำให้น้ำมันแพงขึ้น ซึ่งจะซ้ำเติมผู้บริโภคท่ามกลางวิกฤตพลังงาน

นอกจากนี้ยังมีคำถามอีกหลายข้อที่ยังรอคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคำนวณความเสียหาย หลักเกณฑ์การขอรับเงินชดเชย รวมถึงประเทศใดจะได้รับสิทธินี้ ซึ่งจะต้องเป็นประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น หรือดูจากอัตราการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ยังไม่นับรวมวิธีการจ่ายและการจัดการในเรื่องอื่นๆ ด้วย

ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ข้อมูลของแต่ละประเทศในยุโรปจนถึงขณะนี้ แสดงให้เห็นว่าในปี 2022 มีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนอย่างน้อย 15,000 คน ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค.ที่ผ่านมา

สเปนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,000 คน, โปรตุเกสเสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน, สหราชอาณาจักรเสียชีวิตมากกว่า 3,200 คน และเยอรมนีเสียชีวิตประมาณ 4,500 คน ในช่วงฤดูร้อน 3 เดือน ซึ่งคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีก เมื่อองค์การอนามัยโลกได้รับรายงานเพิ่มเติมจากประเทศอื่นๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดประชุม COP27 หารือจ่ายเงินชดเชยผลกระทบสภาพอากาศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง