จากการเก็บข้อมูลเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาในพื้นที่ จ.พะเยา ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยพะเยา พบว่า มีเด็กกว่า 1,300 คน ที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาบางคนหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว
สาเหตุหนึ่งมาจากความยากจนของครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กชายขอบ ที่เป็นกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และกลุ่มเด็กพิการ
มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา Thai PBS และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดโครงการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตบนพื้นที่พะเยา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อน เดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนในพื้นที่ จ.พะเยา และสร้างฐานข้อมูลเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ให้นักเรียนยากจนเข้าถึงทุนการศึกษา ที่จะเป็นโอกาสในการเรียนต่อตามศักยภาพ
รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า แม้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Global Network of Learning Cities) ได้สำเร็จ แต่การเรียนรู้ยังกระจายได้ไม่ครอบคลุมคนทั้งจังหวัด ยิ่งคนพิการ และคนด้อยโอกาส ยังส่งเสียงสะท้อนว่า เรายังถูกทิ้งไว้ข้างหลังจึงเป็นที่มาของการผนึกกำลังแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนใน จ.พะเยา ครั้งนี้
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยพะเยา ยังสร้างระบบการเรียนรู้ เพื่อให้เข้าถึงเด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และเด็กชายขอบ ด้วยการดึงเด็กกลุ่มนี้ มาเรียนรู้บน Learnning space ที่เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ และเก็บหน่วยกิตผ่านมหาวิทยาลัยพะเยา โดยเด็กที่ผ่านการเรียนรู้ด้วยระบบนี้ จะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง นำไปไปใช้ในการประกอบอาชีพ หรือเก็บหน่วยกิตเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยพะเยาในอนาคตได้