วันนี้ (3 พ.ย.2565) เพจเฟซบุ๊ก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ แจ้งเตือนว่า ชิ้นส่วนจรวดตกสู่พื้นโลก 5 พ.ย.นี้
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA ใช้ระบบการจัดการจราจรอวกาศ (ZIRCON) ในการติดตาม และคาดการณ์การตกของชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บี วาย4 (Longmarch 5B-Y4) ซึ่งพบว่าชิ้นส่วนของจรวดจะตกสู่พื้นโลกในวัที่ 5 พ.ย.นี้ อาจส่งผลกระทบกับประเทศไทยได้ เนื่องจากวัตถุอวกาศนี้ผ่านประเทศไทยทุกวัน
จิสด้า ระบุว่า ตามภาพกราฟิกแสดงให้เห็นทิศทางการเคลื่อนตัวผ่านประเทศ ไทย โดยวันนี้ (3 พ.ย.) จะโคจรในช่วงเวลา 13.54-13.56 น.พาดผ่านบริ เวณพื้นที่บางส่วนของ จ.เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน หนองคาย อุดรธานี กาฬสินธ์ุ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี
สำหรับวัตถุอวกาศดังกล่าว ขณะนี้โคจรสูงจากพื้นโลกโดยเฉลี่ย 177 กิโลเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 21.6 ตัน (ระหว่างที่วัตถุอวกาศกำลังตกสู่โลกนั้น จะมีน้ำหนักน้อยกว่านี้ เนื่องจากจะมีบางส่วนถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ)
ส่วนจุดที่คาดว่าจะเป็นจุดตกของชิ้นส่วนจรวด ขณะนี้ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และจะสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำก็ต่อเมื่อ วัตถุอวกาศอยู่ห่างจากพื้นโลกโดยเฉลี่ยไม่เกิน 130 กิโลเมตร (ระยะห่างของวัตถุอวกาศกับพื้นโลกมีผลอย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์และคาดการณ์จุดตก ดังนั้นยิ่งใกล้โลกเท่าไรจะยิ่งแม่นยำมากขึ้น) ทั้งนี้ การแจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดตกสู่โลกในครั้งนี้
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA ใช้ระบบ ZIRCON ที่ทีมนักวิจัยของ GISTDA พัฒนาขึ้น ทำการวิเคราะห์ติดตาม และคาดการณ์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล
สำหรับปฏิบัติการของลองมาร์ช 5บี วาย4 ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ต.ค.นี้ที่ผ่านมา เพื่อนำโมดูลเหมิงเถียน มาเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนกง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนให้นักบินอวกาศทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยบนอวกาศ อาทิ การทดลองด้านฟิสิกส์ของไหล วัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีอวกาศ และอื่น ๆ
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ณ วันนี้ มีโอกาสได้รับผลกระทบเพียง 1.4 % ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทั้งนี้ GISTDA จะติดตามสถานการณ์และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการตกของชิ้นส่วนจรวดนี้ตลอด 24 ชั่วโมง และจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป