ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โจทย์ที่แก้ไม่ได้ของสังคม “ยาเสพติด ปัญหาที่ไม่มีวันหมดไป”

สังคม
2 พ.ย. 65
15:57
2,115
Logo Thai PBS
โจทย์ที่แก้ไม่ได้ของสังคม “ยาเสพติด ปัญหาที่ไม่มีวันหมดไป”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังจากที่รัฐบาลสั่งควบคุมการนำเข้า 3 สารเคมีเพื่อตัดตอนการผลิตยาเสพติดนั้น ถือเป็นนโยบายรัฐใหม่ที่ใช้ในการทำสงครามยาเสพติด เพื่อหวังประโยชน์ทางอ้อมไม่ให้สารตั้งต้นผลิตยาเสพติดออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นแหล่งผลิตยาแล้วกลับมาขายในไทย

การประกาศสงครามกับยาเสพติด เป็นนโยบายที่มีในทุกรัฐบาล แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐใช้วิธีการปราบปรามการซื้อ-ขายยาเสพติด จากนั้นส่งคนเข้าสถานบำบัด แต่ที่ผ่านมายังเห็นได้ว่า จำนวนคดีที่เกิดจากผู้กระทำผิดที่มีสาเหตุจากการใช้ยาเสพติดนั้นไม่ได้มีจำนวนลดลงเลย ในทางกลับกัน พบว่าราคายาเสพติดก็มีราคาที่ถูกลงทุกวัน 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นาย นิยม เติมศรีสุข อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในแง่มุมของการใช้ขั้นตอนการดูแลรักษาผู้ใช้ยาเสพติด "ปราบปราม-ป้องกัน-บำบัด" และปัญหายาเสพติดที่ไม่เคยหมดไปจากสังคม ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ตัวยา หรือว่า ตัวคน ?

“ยาเสพติด” ปราบยังไงก็ปราบไม่หมด “มายาคติ” หรือ “ความจริง” ?

          ประการแรก คือ ต้องยอมรับว่า “ปัญหายาเสพติดไม่มีวันหมดไป” ไม่ว่าจะบอกว่าสังคมต้องปลอดยาเสพติด ยาเสพติดต้องเป็นศูนย์ อย่างที่พูดกันก็ตาม จากตัวยาตัวหนึ่ง สมัยก่อนอาจจะเป็นฝิ่น แล้วก็เลื่อนมาเป็นเฮโรอีน เป็นยาบ้า เป็นไอซ์ มันมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ตัวหนึ่งหมดไป ตัวใหม่ก็มาอีก ประเด็นคือแล้วจะทำยังไงให้มันไม่กระทบกับการใช้ชีวิตของคนในสังคม

          ประการที่สอง คือ ส่วนประกอบของยาเสพติด มี 3 ส่วน
                  - ตัวยา เป็นส่วนที่ซับซ้อนน้อยที่สุด
                  - สิ่งแวดล้อม ชุมชน สถานที่ที่คนอยุ่อาศัย ซับซ้อนขึ้นมาอีกหน่อย
                  - คน ซับซ้อนมากที่สุด

         ประการที่สาม คือ ปัญหายาเสพติดไม่ใช่ปัญหาเริ่มต้น คนจะเข้าไปเสพยาได้จะต้องเจอปัญหาอย่างอื่นก่อน เช่น ปัญหาสังคม ปัญหาการเงิน ปัญหาครอบครัว สุดแล้วแต่ แล้วนำไปสู่การใช้ยา

ยกตัวอย่าง หากเอายาบ้ามาวางไว้ข้างหน้า ถามว่ายาบ้าจะสามารถเข้ามาในปากเราเองได้หรือไม่ ? ถ้าคนไม่เป็นคนหยิบเข้าปากเอง ดังนั้น การจัดการจะต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่าต้องจัดการปัจจัยไหนก่อนและต้องจัดการอย่างไร


เราจัดการที่ตัวยาอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าความต้องการของคนยังมีอยู่

ที่ผ่านมา มีการแก้ปัญหาที่ตัวยามาโดยตลอด และก็สามารถแก้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานรัฐสามารถจับยาบ้าได้ทีหลายร้อยล้านเม็ด จับยาไอซ์ได้ทีหลายร้อยกิโลกรัม แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า แล้วปัญหาหายไปหรือลดลงไปหรือไม่ ตราบใดที่ความต้องการของคนเสพยายังมีอยู่ ยังไงเสีย ปริมาณยาเสพติดที่เข้ามาก็ยังจะอยู่เรื่อยๆ

ที่ผ่านมา จากข้อมูลพบว่า แม้จะมีข่าวจับยาเสพติดได้มากแค่ไหน แต่ก็ไม่เกี่ยวข้องกับราคาของยาเสพติดเลย

จับได้มาก-ของในตลาดลดลง-ราคาแพง ไม่ใช่เรื่องจริง

มองในแง่ของกลไกการตลาด ผู้ผลิตยาเสพติดก็ต้องหาวิธีการที่จะทำให้ผลิตยาเสพติดได้ในราคาที่ถูกที่สุด ได้ปริมาณที่มากที่สุด เพื่อออกสู่ตลาดให้ไวที่สุด นั่นคือ ต้องตอบสนองความต้องการของตลาดนั่นเอง

แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ แหล่งผลิตยาเสพติด อยู่นอกประเทศไทย อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้เลย สิ่งที่ทำได้มากที่สุดในแง่ของความร่วมมือระหว่างประเทศคือ

การควบคุมเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นไม่ให้เข้าไปสู่ประเทศแหล่งผลิต

แต่ก็อย่าลืมว่าประเทศที่เป็นแหล่งผลิตนั้น ก็มีชายแดนที่ติดกับประเทศอื่นๆ ด้านอื่นๆ เช่นกัน ซึ่งเท่ากับว่าไม่สามารถควบคุมได้อย่างสิ้นเชิงเลย

 อ่านเพิ่ม : รัฐบาลสั่งคุมเข้ม 3 สารเคมี ตัดตอนผลิตยาเสพติด

 

สงครามกับยาเสพติด เป้าหมายคืออะไร ?

สงครามกับยาเสพติด หรือ War on Drugs” เป็นมาตรการที่แพร่กระจายทั่วโลก เริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกาเมื่อ 40 กว่าปีก่อนและแพร่กระจายใช้กันต่อๆ มา ในหลายๆประเทศใช้บทลงโทษกฎหมายที่แรงก็จริง แต่ตามสถิติปัญหาการใช้ยาเสพติดก็ไม่ได้ลดลงเลย

เช่นเดียวกันกับประเทศไทย หากตีโจทย์ว่า การทำสงครามกับยาเสพติดคือการบังคับใช้กฎหมาย ก็ต้องบอกว่า ในบางพื้นที่ในไทย กฎหมายไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่เลย หากไม่มีองค์ประกอบด้านอื่นเข้าช่วย

ยกตัวอย่าง เช่น ในชุมชนแห่งหนึ่ง มีปัญหายาเสพติดภายในชุมชนไปทั่ว ต่อให้วันนี้เอาตำรวจเข้าไปกี่ร้อยกี่พันนาย แต่ถ้าคนในชุมชนไม่ช่วยเหลือกัน ตำรวจก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ปัญหาอาจจะถูกหยุดไปสักพัก แต่เดี๋ยวก็จะวนกลับมาเกิดขึ้นใหม่อีก

ถ้าต้องการแก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพจริงๆ ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน องค์การเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมและมองปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาเดียวกัน

ปัญหายาเสพติดไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง หรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง

 

สธ. แบ่งคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในแง่การใช้เป็น 3 แบบ

1. ผู้ใช้ หมายถึง นานๆ ใช้ครั้งหนึ่ง ไม่ได้ใช้ทุกวัน
2. ผู้เสพ หมายถึง ผู้ที่ใช้ยาเสพติดมีความถี่มากขึ้น
3. ผู้ติด หมายถึง ขาดยาเสพติดไม่ได้เลย

แต่ขณะนี้ มีผู้ติดอีกประเภทหนึ่งเติมเข้ามา คือ “ผู้ติดที่มีอาการทางจิต” ซึ่งการดูแลรักษาคนเหล่านี้ ก็ต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกันไป

ขั้นตอนการดูแลผู้ใช้ยาเสพติด - ปราบปราม ป้องกัน บำบัด

ในขั้นตอนของการปราบปรามและการบำบัดนั้น ต้องอาศัยกลไกแห่งรัฐเข้ามาช่วย แต่มุมมองของ อดีตเลขาธิการ ป.ป.ส. มองว่า ขั้นตอนป้องกัน เป็นขั้นตอนที่จัดการได้ยากที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มจัดการตั้งแต่ “ครอบครัว”

ในชีวิตของเด็กคนหนึ่ง ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยทำงาน จะถูกจัดการโดยรัฐทั้งหมด เช่น เมื่อเกิดมาแล้วก็ถูกดูแลโดยกรมการปกครอง แจ้งเกิด แจ้งชื่อ แจ้งย้ายเข้าบ้าน โตมาอีกหน่อยต้องเข้าโรงเรียน ก็ถูกดูแลโดยกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ในแต่ละช่วงวัยของเด็กที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกวัยหนึ่งนั้น ไม่ได้เป็นการส่งต่อของรัฐอย่างต่อเนื่อง

แต่ครอบครัวเป็นหน่วยที่อยู่กับเด็กตลอดเวลา ดังนั้นครอบครัวต้องเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญให้เด็ก ต้องสอนให้เด็กรู้จักการแยกแยะและปฏิเสธให้เป็น ซึ่งย้อนกลับไปที่กล่าวข้างต้น


ต่อให้มียาบ้าเป็น 10 เม็ดมาวางตรงหน้า ในเมื่อเด็กหรือเยาวชนที่ได้รับการปลูกฝังจิตใจที่แข็งแรง ความรู้ที่มากพอเรื่องโทษของยาเสพติด การให้ความรัก ความอบอุ่น เอาใจใส่ที่ดีพอจากครอบครัว ยาบ้า 10 เม็ดก็เหลือ 10 เม็ดเท่าเดิม และเป็นเพียงของที่ไม่มีค่าใดๆ วางอยู่ตรงนั้น ไม่ว่าจะมีราคาเม็ดละกี่บาทก็ตาม

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง