วันนี้ (2 พ.ย.2565) พรรคก้าวไกล นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตกร ส.ส.กทม. นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ร่วมรับหนังสือ จากนายสมบูรณ์ แก้วเกียงไกล นายกสมาคมสุราชุมชน และนายธนากร ท้วมเสงี่ยม ผู้ก่อตั้งประชาชนเบียร์ รวมถึงสมาคมคราฟเบียร์
แค่เป็นกุศโลบายคว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า
นายพิธาขอบคุณประชาชนที่ให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สรรพสามิต หรือ ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า พร้อมกล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า กับร่างกฎกระทรวงการผลิตสุราปี 2565 ซึ่งร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าเป็นการปลดล็อกให้เกิดความเท่าเทียม และลดการเอาเปรียบของกลุ่มทุนใหญ่
กฎกระทรวงเป็นการเปลี่ยนล็อก ไม่ได้เป็นการปลดล็อกอย่างแท้จริง ออกมาเพียงหนึ่งวัน ก่อนร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เป็นเพียงกุศโลบายของรัฐบาล ที่จะใช้อ้างเพื่อคว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ใช้เวลาในการจัดทำกฎหมายนานถึง 6 ปี
พร้อมอธิบายว่า การเปลี่ยนล็อกของกฎกระทรวง จากเงินจดทะเบียนมาเป็นเครื่องจักรที่อธิบดีกรมสรรพสามิตอนุญาตเท่านั้น และเห็นว่าเป็นการเขียนกฎหมายของราชการ ที่ห่วงว่าจะตามศักยภาพของผู้ประกอบการไม่ทัน โดยเฉพาะยุคการดื่มแอลกอฮอล์ยุคใหม่ และไม่สามารถทำให้ความฝันของผู้ประกอบการไปถึงฝันได้
“ก้าวไกล” ยันมาไกลเกินกว่าจะแพ้
พรรคก้าวไกลมาไกลเกินกว่าจะแพ้ และยังเห็นว่า นโยบายสุราเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดกับนโยบายซอฟเพาเวอร์ และนโยบายท่องเที่ยวของประเทศไทยในทิศทางเดียวกัน
หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความกังวล เรื่องสุราเสรีนั้น ยืนยันว่าไม่มี เพราะว่าชื่อ พ.ร.บ. คือ สุราก้าวหน้า มีการควบคุมโดยกฎหมายอื่นที่ไม่ต่างจากทุนใหญ่ ก่อนจะเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า
นายเท่าพิภพ ยังกล่าวถึงปณิธานของตัวเองที่จะแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งยืนยันว่า หากร่างกฎหมายไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ก็ยังคงที่จะเดินหน้าแก้ไขร่างกฎหมายต่อไป และกฎกระทรวงที่รัฐบาลออกมา ไม่ได้เป็นการปลดล็อกการทำสุราพื้นบ้าน
และจะเดินหน้าอธิบายให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าใจถึงความสำคัญ และความจำเป็นของร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า และยังมั่นใจว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ
ยังไม่ปลดล็อก “สุราสี” ใช้เงื่อนไขเดิม เอื้อกลุ่มทุนใหญ่
ส่วนนายสมบูรณ์ แก้วเกียงไกล นายกสมาคมสุราชุมชน เปิดเผยว่า ร่วมกับเครือข่าย ยื่นหนังสือต่อ กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อร่างกฎหมายฉบับนี้นาน 6 ปี และมีความแปลกใจว่า จู่ ๆ วันที่ 1 พ.ย. กลับมีประกาศอนุญาตให้ผลิตสุราและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 พ.ย. ยอมรับว่า แปลกใจและเชื่อว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะที่ผ่านมาเคลื่อนไหวมา 4-5 ปี แต่ไม่เคยมีผลตอบรับใด ๆ
สิ่งที่สมาคมต้องการคือเรื่องสุราสี ซึ่งจะมีการกำหนดว่า 28 ดีกรี ที่ 30,000 ลิตรต่อวัน หมายถึงขั้นต่ำในการผลิต ซึ่งในทางปฏิบัติของกลุ่มขนาดเล็กหรือสุราชุมชน ยากที่จะทำได้ ทำให้กลุ่มผู้ผลิตสุราชุมชนไม่สามารถทำสุราสีได้
ข้อกำหนดดังกล่าว เป็นการเอื้อต่อนายทุนใหญ่อย่างชัดเจน ซึ่งหากมีเงื่อนไขให้ประชาชนทำสุราสีได้เมื่อใด จึงจะถือว่า เป็นการปลดล็อกอย่างแท้จริง
ขณะที่สมาคมคราฟเบียร์ เรียกร้องให้พรรคการเมืองสนับสนุนร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า โดยเห็นว่า กฎกระทรวงที่ประกาศมายังปลดล็อกไม่เต็มที่ โดยหวังว่าหากผ่านร่างกฎหมายไม่ได้ ก็จะส่งผลให้การทำธุรกิจของวงการคราฟเบียร์ จะสามารถยกระดับได้เพื่อผลประโยชน์โดยรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ
สอดคล้องกับกลุ่มประชาชนเบียร์ ที่ต้องการผลิตเหล้าและเบียร์เอง ด้วยเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมความรู้ และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสุรา