ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"โรเจอร์" จี้ควบคุมเลี้ยง "หมาพันธุ์ดุ" หลังเคสพิทบูลกัดชาย 67 ปีดับ

สังคม
24 ต.ค. 65
16:54
861
Logo Thai PBS
"โรเจอร์" จี้ควบคุมเลี้ยง "หมาพันธุ์ดุ" หลังเคสพิทบูลกัดชาย 67 ปีดับ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เลขาฯ สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย เผยเรียกร้องควบคุมสุนัขพันธุ์ดุ 10 ปียังไม่คืบ หลังเคสพิทบูลกัดชายวัย 67 ปีเสียชีวิต จ.นครราชสีมา พบสถิติปี 65 ถูกสุนัขกัดนับ 10 คน

จากกรณีสุนัขพันธุ์พิทบูลในพื้นที่ จ.นครราชสีมา กัดชายวัย 67 ปี พ่อของเจ้าของสุนัขจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะที่ลูกชายผู้เสียชีวิต เล่าว่า ช่วง 11.30 น.วานนี้ (23 ต.ค.2565) ได้ไปจ่ายตลาดและปล่อยให้พ่ออยู่บ้านคนเดียว ก่อนที่จะเดินทางกลับมาพบว่า พ่อถูกสุนัขกัด คาดว่าพ่อคงเห็นสุนัขกัดกันแล้วเอาไม้ไปตีไปห้าม จึงถูกสุนัขตัวเมียที่เพิ่งคลอดลูกได้ 2 เดือน พ่อจนเสียชีวิต

ด้านน้องชายของเจ้าของสุนัขพิทบูล บอกว่า ปกติที่บ้านหลังนี้จะขังสุนัขตัวใหญ่ไว้ในกรง และปล่อยออกมานอกกรงบ้างเป็นบางเวลา แต่ไม่เคยมีประวัติกัดคนในบ้าน

วันนี้ (24 ต.ค.2565) นายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย เปิดเผยกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า ได้เรียกร้องให้มีการควบคุมสุนัขพันธุ์ดุมานานหลายปีแล้ว ล่าสุดส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้อง เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการตอบรับใด ๆ

ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะให้ขึ้นทะเบียนการเพาะ หรือเลี้ยงสุนัขพันธุ์ดุ มีแค่ข้อบัญญัติการเลี้ยงและปล่อยสัตว์

นายโรเจอร์ แนะนำว่าหากยังออกกฎหมายเฉพาะไม่ได้ ท้องถิ่นควรใช้ข้อบัญญัติควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ เช่นเดียวกับ กทม. ซึ่งให้เจ้าของสัตว์ขึ้นทะเบียนการเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์พิเศษตั้งแต่ปี 2548 เช่น การดูแล หรือเมื่อนำสุนัขดังกล่าวออกมาข้างนอกจะต้องใช้ที่ครอบปาก แต่พบว่าไม่เคยบังคับใช้อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือสุนัขกัดคนในบ้าน หรือเด็กที่วิ่งเล่นในบริเวณใกล้เคียง

เรียกร้องมาตั้ง 10 ปีแล้ว ทุกครั้งที่มีข่าวสุนัขพันธุ์ดุกัดคนก็จะยกมาคุย แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ

นายโรเจอร์ ระบุว่า เคยคุยกับผู้เพาะเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งไม่ได้คัดค้านการควบคุมที่จะต้องมีการขึ้นทะเบียน รายงานจำนวนเลี้ยง หรือการเพาะเลี้ยง แต่ไม่เห็นด้วยหากห้ามนำเข้า

ก่อนหน้านี้ สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ได้ส่งหนังสือเปิดผนึกเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องมาตรการแก้ปัญหาสุนัขพันธุ์ดุ โดยมีรายละเอียดสำคัญว่า

ข่าวสุนัขกัดคนมีมาตั้งแต่ก่อนปี 2538 และในปี 2565 มากกว่า 10 ครั้ง เฉพาะเดือน ก.ย.2565 มีถึง 4 ครั้ง ซึ่งพิทบูลไม่ใช่สายพันธุ์เดียวที่สมควรต้องเฝ้าระวัง แต่มีสุนัขพันธุ์ดุกว่า 15 สายพันธุ์ ในขณะที่ราชการไทยรับทราบอย่างเป็นทางการ 5 สายพันธุ์ คือ พิทบูล, ร็อตไวเลอร์, ฟิล่าบราซิลเลียโร, สแตฟเฟอร์ดไซร์เทอร์เรีย และบูลเทอร์เรีย ซึ่งตามหลักการควรรวมสุนัขบางแก้วไว้ด้วย

หลายปีก่อนกรมปศุสัตว์เคยชะลอการนำเข้าสุนัขพันธุ์ดุ 4 สายพันธุ์ คือ อเมริกัน พิทบูลเทอร์เรีย, ร็อตไวเลอร์, โดเบอร์แมน, ฟิล่าบราซิลเลียโร แต่ต้องยกเลิกไป ขณะที่กรุงเทพมหานครมีข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเลี้ยงดูสุนัขพันธุ์พิเศษ แต่ไม่เคยบังคับใช้อย่างจริงจัง จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องหารือแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการเพาะและการเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์อันตราย เพื่อความสมดุลระหว่างความรักและความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง