วันนี้ (19 ต.ค.2565) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมทีมปฏิบัติการ MCATT กรมสุขภาพจิต ออกเยี่ยมเยียนพื้นที่ประสบเหตุการณ์ความรุนแรง จ.หนองบัวลำภู ร่วมกับ นพ.ประวิตร ศรีบุญรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขหนองบัวลำภู และแกนนำสาธารณสุข รวมทั้งเครือข่าย
เบื้องต้นในกลุ่ม A หรือกลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง อันได้แก่ ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้รอดชีวิต ญาติใกล้ชิดผู้เสียชีวิต จากเป้าหมาย 345 คน สามารถเยียวยาจิตใจได้ถึง 336 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 97.39
ตัวเลขดังกล่าว เกิดจากการทำงานในระยะติดตาม ภายใน 2 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 9–20 ต.ค.นี้ โดยทีม MCATT ติดตามช่วยเหลือเยียวยาจิตใจอย่างเต็มที่ต่อเนื่อง ตลอดทั้งวันใน 2 สัปดาห์แรก
โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 3 กลุ่มมีสุขภาพจิตดีขึ้นและไม่เกิดปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว
อ่านข่าวเพิ่ม ระดม "นักจิตวิทยา" ดูแลครอบครัวเด็กเสียชีวิตจากเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู
เร่งกู้สภาพจิตใจกลุ่มเด็กเล็กและครอบครัว
นพ.ศักรินทร์ แก้วเฮ้า ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การวางแผนการดูแลเด็ก และครอบครัวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในระยะยาว
ประเด็นสำคัญคือการทำให้เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงปกติให้ได้โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ แผนระยะติดตามการดูแลเด็ก และผู้ประสบเหตุในระยะ 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือนจะใช้กลยุทธ์สองรูปแบบ โดยกลยุทธ์แรกคือการป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตเวช
โดยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องคือ การดูแลจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และระบบบริหารจัดการดูแลส่งต่อกรณี ที่มีความซับซ้อน เพื่อรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ
กลยุทธ์ที่สอง จะเป็นเรื่องของการสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนกลับคืนสู่ปกติสุข โดยมี 3 กิจกรรม เช่น กิจกรรมการเล่นสร้างสุขสำหรับเด็กๆ กิจกรรมกลุ่ม เพื่อเตรียมความพร้อมของครูและนักเรียนสำหรับการเปิดเทอม
และกิจกรรมที่ 3 เป็นการดำเนินการช่วยเหลือให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สามารถกลับสู่บทบาทหน้าที่เดิมได้ โดยความพร้อมของทุกฝ่ายให้เร็วที่สุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พระราชดำรัสในหลวง “รู้สึกเสียใจเศร้าใจ” กับผู้สูญเสียหนองบัวลำภู
รัฐบาลจ่ายเยียวยา "ผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ" เบื้องต้นกว่า 13 ล้านบาท