วันนี้ (18 ต.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้รับเหมาโครงการบ้านสวัสดิการทหาร และทนายความ ร้องขอการคุ้มครองจากกระทรวงยุติธรรม โดยระบุว่าถูกนายทหารที่หักค่าหัวคิวข่มขู่อย่างหนัก หลังจากผู้เสียหายร้องเรียนเรื่องนี้ต่อกองทัพบกและมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ
น.ส.ก้อย ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้รับเหมา อ้างว่ารูปแบบการกู้เงิน สมมติทหารต้องการกู้ซื้อบ้าน 1,000,000 บาท ต้องยื่นกู้กับกรมสวัสดิการฯ 1,500,000 บาท แต่มีทหารอ้างว่าต้องหักค่าธรรมเนียมเข้ากองทัพบก 5% หรือ 75,000 บาท ซึ่งผู้กู้ไม่รู้เรื่องนี้ และจะมี “เงินทอนส่วนต่าง” จ่ายคืนให้กับผู้กู้ 400,000 บาทเป็นค่าตกแต่งบ้าน
ซึ่งปัญหาของ น.ส.ก้อย คือถูกผู้กู้มาทวงถามเรื่องเงินทอน ข้อมูลของผู้เสียหายพอตั้งข้อสังเกตได้ว่า มีคนไปรับปากกับผู้กู้หรือไม่ว่าจะได้ “เงินทอนส่วนต่าง” คืน
วิธีการนี้คล้ายกับรูปแบบการกู้เงินสวัสดิการฯ ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นที่มาของผู้ก่อเหตุกราดยิงโคราช รูปแบบคือ ทหารที่ต้องการกู้บ้านราคา 1,000,000 บาท ต้องกู้ 1,500,000 บาท
แต่มีนายทหารคนกลางและผู้รับเหมา กรณีนี้เป็นแม่ยายกับลูกเขยรับปากว่าจะมี “เงินทอน” ให้ 400,000 บาท แต่สุดท้ายให้ไม่ถึง 400,000 บาทและบ้านไม่เสร็จ ไม่มีน้ำ-ไฟ จนนำไปสู่ความไม่พอใจและก่อเหตุรุนแรง
ผู้เสียหายอ้างถูกทหารกรมสวัสดิการฯ หักหัวคิว
ผู้เสียหาย อ้างว่า เพิ่งรู้ภายหลังว่าไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม 5% เข้ากองทัพบก แต่อ้างว่าเป็นการเก็บเงินเข้ากระเป๋าของนายทหารคนหนึ่งในกรมสวัสดิการทหารบก จึงร้องเรียนจนมีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ปรากฎว่าหลังประชุม มีทหารนายหนึ่งซึ่งนั่งในที่ประชุมด้วย ออกมาพยายามขโมยเอกสารลับและหลักฐานที่ยืนยันว่ามีการหักเงิน 5% โดยอ้างกองทัพบก ซึ่งหลักฐานคือภาพจากกล้องวงจรปิด ที่เห็นชายแต่งกายคล้ายทหารพยายามแย่งเอกสาร โดยผู้เสียหายเชื่อว่าจะนำไปสู่การทำร้ายร่างกาย
นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังมีหลักฐานที่อ้างว่าเป็นคลิปเสียงของทหารนายหนึ่ง ที่โทรศัพท์มาข่มขู่ ช่วงหนึ่งระบุว่า “ผมไม่เล่นงานคุณก็บุญแล้ว”
ขณะที่ทนายความที่พาผู้เสียหายขอความคุ้มครอง ระบุว่า บุคคลที่อ้างว่าเป็นทหารข่มขู่เป็นบิ๊กทหารระดับนายพลฯ และมีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอและเสียง
"จ่าเอก" อ้างถูกหัวหน้าโยนความผิดปมหักหัวคิว
โครงการบ้านสวัสดิการฯ ที่ผู้เสียหายเป็นผู้รับเหมา และเป็นกรณีที่ยื่นร้องเรียนอยู่ในขณะนี้ อยู่ใน จ.ลพบุรี
มีรายงานว่า นายทหารยศจ่าเอก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เสมียนธุรการของกรมสวัสดิการฯ อ้างว่า เป็นคนโอนเงิน 5% เข้าบัญชี “หัวหน้า” ของตัวเอง แต่สุดท้ายอ้างว่าถูกหัวหน้าโยนความผิดว่าเป็นคนฉ้อฉลทำธุรธรรมอำพราง เก็บเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ซึ่งขณะนี้จ่าเอกนายนี้ยังถูกผู้รับเหมาฟ้องร้องด้วย
พล.ท.นิรันดร ศรีคชา โฆษกกองทัพบก ระบุว่า เรื่องนี้ เจ้ากรมสวัสดิการทหารบกอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล หากรับทราบรายงานแล้วจะชี้แจงเพิ่มเติม แต่เบื้องต้นเห็นว่าเกิดขึ้นนานแล้ว และไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ปรากฏตัวหลังการประชุม ครม. พร้อมโบกมือส่งสัญญาณปฏิเสธที่จะตอบคำถามในเรื่องนี้
ย้อนยุค "พล.อ.อภิรัชต์" แก้ปมสวัสดิการทหาร
เรื่องบ้านพักสวัสดิการฯ เป็นเรื่องใหญ่เมื่อปี 2563 หลังเหตุกราดยิงโคราช ช่วงนั้นเป็นช่วงท้ายยุค พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเหลืออายุราชการ 7-8 เดือน ขณะนั้น พล.อ.อภิรัชต์ แถลงข่าวและร้องไห้ โดยช่วงหนึ่งกล่าวว่า "เหตุการณ์ครั้งนี้ ผมเสียใจ ขณะเดียวกันก็จะทำให้ผมเข้มแข็งในระยะเวลาที่เหลือในการเป็น ผบ.ทบ. ในการแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด"
การแก้ไขหลังจากนั้น เช่น สั่งทหารเกษียณย้ายออกจากบ้านพักทหาร เว้นผู้ทำคุณประโยชน์ชาติ, เปิดสายตรง ผบ.ทบ. ซึ่ง 70-80% พบเป็นความเดือดร้อนเรื่องสวัสดิการ, สั่งย้าย “พันเอก” และ “พันโท” ในพื้นที่ภาค 2 ที่เกี่ยวกับการทุจริตไม่จ่ายเงินค่าทำงานล่วงเวลา, รื้อระบบสวัสดิการ สนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ และสถานที่พักฟื้นพักผ่อนของ ทบ.