ชาวบ้านนำอิฐมอญกว่า 20,000 ก้อน พร้อมปูนและทราย มาก่อขึ้นเป็น "เชิงตะกอน" เพื่อใช้แทนเมรุชั่วคราว
เชิงตะกอนถูกทำเป็นบล็อก ขนาดกว้าง 80 ซม. ยาว 1.2 ม. สูง 60 - 80 ซม.ตกแต่งด้วยผ้าขาวดำและดอกไม้และใช้ถ่าน ไม้ฟืน และน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
ที่วัดราษฎร์สามัคคี จัดทำเตาเผาเชิงตะกอนจำนวนมากที่สุด 19 ศพ ซึ่งร่างของครู และเด็ก ๆ จะถูกประกอบพิธีที่นี่
ทุกเชิงตะกอนจะถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะใช้สำหรับเผาร่างบุคคลใด และญาติสามารถเก็บอัฐิหลังเสร็จสิ้นการฌาปนกิจได้
วัสดุทำเชิงตะกอนทั้งหมด ได้รับบริจาคจากผู้ใจบุญ ที่หวังจะร่วมอุทิศส่วนกุศล และมีชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ ช่าง และทหาร ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันก่อสร้างโดยไม่มีค่าจ้างใด ๆ
พระครูอดิศัยกิจจานุวัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์สามัคคี อธิบายว่า เหตุผลที่ใช้เชิงตะกอนเพราะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งเมรุเผาศพไม่สามารถฌาปนกิจได้พร้อมกันจึงใช้เผาเตาแบบเชิงตะกอน ซึ่งถือเป็นการเผาด้วยเชิงตะกอนพร้อมกันมากที่สุด
เชิงตะกอน เป็นธรรมเนียมโบราณ ที่มักฌาปนกิจในป่าช้า หรือ ที่เผาศพ สมัยโบราณเมื่อเผาศพจะเห็นร่างถูกเผาเป็นสีดำ
ทั้งนี้ถือว่า เป็นคติธรรมหนึ่งทางพุทธศาสนาที่จะทำให้ครอบครัวและผู้ร่วมงานได้ปลงสังเวช หรือพิจารณาถึงความสลดใจ เตือนให้สำนึกตนในทางที่ดีและเห็นภาพอนิจจัง แต่งานวันนี้จะมีฉากกั้นเพื่อบรรเทาความรู้สึกสะเทือนใจ
เชิงตะกอน มี 2 แบบ คือ ก่อด้วยอิฐฉาบปูน เช่นเดียวกับพิธีวันนี้ และแบบใช้ไม้ท่อนวางขวางไปมา ซึ่งในอดีตตามชนบทจะเป็นแบบหลังเพราะไม้หาได้ง่าย
นอกจากการเผาด้วยเชิงตะกอน ที่หลายคนบอกว่า "แทบทั้งชีวิต...ยังไม่เคยเห็น"
นอกจากนี้ ที่วัดราษฎร์สามัคคี และวัดเทพมงคลพิชัย ยังมีพิธีสำคัญอีกพิธีหนึ่ง ที่เรียกว่า "พิธีกล" ตามความเชื่อของชาวอีสาน ที่มักไม่จัดพิธีฌาปนกิจศพในวันอังคารจึงต้องมีการแก้เคล็ด ซึ่งเกิดขึ้นช่วงหนึ่ง ก่อนการลำเลียงร่างจากศาลา ลงมาที่เชิงตะกอน
ชาวบ้านจะขุดหลุมทำทีเหมือนกำลังจะฝังศพจากนั้นจะมีพระสงฆ์เข้ามาทักท้วง และขอบิณฑบาต เพื่อนำร่างไปประกอบพิธีตามประเพณี
ขณะที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดฯ บอกว่า หลังพิธีฌาปนกิจเสร็จสิ้น และญาตินำอัฐิไปลอยอังคารหมดแล้ว จึงจะรื้อเชิงตะกอนออกไม่มีการใช้ซ้ำ