หลังคำวินิจฉัยวาระ 8 ปี มีข้อสังเกตว่า "ลุงตู่แซะลุงป้อม" ลงพื้นที่ไม่ต้องทำป้ายต้อนรับ ด้วยก่อนหน้านี้ลุงป้อมมีประเด็นกับการทำป้ายต้อนรับใหญ่เกินขนาด กกต.กำหนดตามกฎหาเสียงเลือกตั้ง 180 วัน
พอเข้าปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ตามคำวินิจฉัยยังไม่ครบ 8 ปี เหลือเวลาอีก 2 ปี ด้วยรัฐธรรมนูญ ปี 2560 พี่น้อง 2 ป.ก็คลาดกันตลอด มิหนำซ้ำจะเป็นที่เพ่งเล็งว่า "ลุงตู่" เจตนาเลือกปรากฎตัวครั้งแรกในแบบควงคู่ "พี่ป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่กระทรวงมหาดไทย หรือเปล่า
แรงกว่านั้น ก็กลับเข้าไปนั่งเก้าอี้นายกฯ ถก ครม.ที่ทำเนียบ "ลุงป้อม" ลาป่วย เรื่องจึงออกมา ยังไงๆ อยู่หน๊า !
แต่สุรปว่า..นั่นคือ การแสดงและการเมือง ? เพราะ 3 ป.เข้ามูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ นั่งโต๊ะกินโจ๊ก..จิบกาแฟ ยามเช้ากันทุกวัน
แหล่งข่าวบอกว่า พี่น้อง 2 ป.ไม่ได้ขัดแย้ง แค่ว่า..ยังตกลงกันไม่ได้ไหม ว่าใครจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของพรรคพลังประชารัฐ
ข้อมูลนี้ ไปตรงกับหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านฯ ประเมินบริบท 2 ป.กำลัง "ขิง" กัน "ชิง" กัน เพื่อเช็คเรตติ้งก่อนจะตกลงกัน ว่าใครจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ พร้อมออกปากเชียร์ "ลุงป้อม" ด้วยเหตุผลของวิธีการทำงานและการเข้าถึงประชาชนมากกว่า..!
ข้อสังเกต..จึงมีอยู่ว่า มาตรา 272 ตามบทเฉพาะกาล คือระหว่าง 5 ปีแรกนับจากรัฐสภาชุดแรก กำหนดให้การเสนอและลงมติเลือกนายกฯ เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ( ส.ส. กับ ส.ว.) ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่า "กึ่งหนึ่ง"
ซึ่งหมายถึง เงื่อนไข ที่ " 2 ป." กำลังทบทวนและต้องวางกลไกรองรับให้พร้อม ประกอบกับผลการเลือกตั้งที่อาจแตกต่างจากปี 2562 อีก และ "เบอร์ 1" ที่ว่านี้ ไม่ใช่แค่ "เบอร์ 1" ใน 3 ชื่อ ตามบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคพลังประชารัฐ ต้องแจ้งต่อ กกต.ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงเท่านั้น
แต่ "เบอร์ 1" ที่ตกลงกันไม่ได้ คือ ? ใคร..จะมาก่อน ระหว่าง "ลุงตู่กับลุงป้อม" ถ้าใคร..คนนั้นมาก่อน ก็จะมีเสียง "ส.ว." 250 เสียงที่ คสช.สรรหาและเลือกไว้ มาช่วยโหวตสนับสนุน
แต่ปัญหามีอยู่ว่า วุฒิสภาชุดนี้ เป็นวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล ที่กำลังจะสิ้นสุดวาระ "พฤษภาคม 2567" จากนั้น..ต้องเริ่มกระบวนการเลือก วุฒิสภาชุดใหม่ 200 คน ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ 2560 คือการเลือกกันเอง หรือ "เลือกไขว้" ระหว่างจากหลากหลายวิชาชีพและสังคม
สรุปว่า..หลังเลือกตั้ง ปี 2566 "พลังประชารัฐ" จะชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 หรือแค่อันดับ 2 การจัดตั้งรัฐบาลและลงมติเลือกนายกฯ ยังต้องเสี่ยงอยู่กับเงื่อนไข ส.ว.250 เสียงนี้..อยู่ดี
"สมมุติฐานแรก"
ถ้าเบอร์ 1 เป็น ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ และวาระที่เหลืออยู่ 2 ปี เมื่อได้รับเลือกเป็นนายกฯ แล้วส่งไม้ต่อให้ "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร ช่วง 2 ปีหลัง.ก่อนครบเทอม คำถาม จึงมีอยู่ว่า "ลุงป้อม" รอไหวไหม? และช่วงหลังที่ไม่มี ส.ว.250 เสียงร่วมโหวตจะไปต่อได้ไหม?
"สมมุติฐานที่สอง"
ถ้าเบอร์ 1 เป็น ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร อาจเป็นการตัดโอกาส ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ กับวาระที่เหลืออยู่หรือเปล่า เพราะ 2 ปีหลัง ที่ไม่มี "ส.ว." 250 เสียงร่วมโหวตแล้ว ยังเป็นคำถาม? ใช่เวลาของ ลุงตู่เหรอ ยังใช่จังหวะทางการเมืองของขั้วอำนาจ "3 ป." อยู่ไหม?
ด้วยข้อสังเกตว่า สนามเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ทั้งขั้วเดียวกันและขั้วตรงข้าม เริ่มเปิดหน้าท้าชิงการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเก้าอี้นายกฯ โดยเฉพาะ "เพื่อไทย" ที่มาพร้อม "แพทองธาร ชินวัตร" และชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ ขณะที่ "ภูมิใจไทย" ชูเสี่ยหนู "อนุทิน ชาญวีรกูล" และธงที่จะชนะยกจังหวัด
แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทย บอกว่า ถ้าเบอร์ 1 เป็นลุงป้อม ก็พร้อมยอมรับได้ เพราะเชื่อว่า เจรจาทางการเมืองกันได้ ร่วมงานกันก็ได้ด้วย เพราะลุงป้อม มีวิธีการทำงานและการเข้าถึงประชาชน มากกว่าลุงตู่ และไม่ใช่การ “ยุส่ง” เพราะหวังจะชนะ ถ้าเทียบฟอร์ม “ลุงป้อมกับอุ้งอิ้ง” แต่เป็นข้อเท็จจริงที่คนการเมือง รู้ๆ กันอยู่
สรุปว่า รู้ๆ กันอยู่ว่า ในทางการเมืองเทียบกันไม่ได้ ระหว่าง “ลุงตู่กับลุงป้อม” นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องพักสัมพันธ์ 3 ป.แล้วถกกันให้จบว่า ใคร? จะเป็นเบอร์ 1
ประจักษ์ มะวงศ์สา รายงาน