ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ระวังภาวะ Headline Stress Disorder เครียดเพราะเสพข่าวหดหู่มากไป

สังคม
7 ต.ค. 65
09:13
1,566
Logo Thai PBS
ระวังภาวะ Headline Stress Disorder เครียดเพราะเสพข่าวหดหู่มากไป
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มีคำแนะนำจากจิตแพทย์ถึงผู้ที่เสพข่าวหดหู่มากเกินไป อาจทำให้เกิดความเครียด ส่งผลต่อสุขภาพจิต เสี่ยงเป็นภาวะ Headline Stress Disorder

เฟซบุ๊ก Mahidol Channel เผยแพร่บทความของ ผศ.นพ.วัลลภ อัจสริยะสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ซึ่งกล่าวถึงการติดตามข่าวสารที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง ทำให้หลายคนเสพข่าวต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพจิต เพราะข่าวและเนื้อหาต่างๆ ที่เผยแพร่ในสื่อและโซเชียลมีเดีย สร้างความเศร้า ความเครียดสะสมจากการเสพข่าวหดหู่มากเกินไป อาจเกิดภาวะ Headline Stress Disorder

Headline Stress Disorder ไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นคำที่ใช้เรียกภาวะเครียด หรือวิตกกังวลมาก ที่เกิดขึ้นจากการเสพข่าวทางสื่อต่างๆ ที่มากเกินไป

การเสพข่าวหดหู่มากไป สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้มากและหลายระบบ เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ หากปล่อยไว้อาจส่งผลต่อการเกิดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า

ใครเสี่ยงต่อภาวะ Headline Stress Disorder

คนที่เหนื่อยล้าทั้งทางจิตใจหรือร่างกายอยู่แล้ว เช่น อาจกำลังเครียดเรื่องงาน ครอบครัว การเรียน พักผ่อนไม่เพียงพอ เจ็บป่วยอยู่นั้น อารมณ์จะอ่อนไหวง่าย เมื่อเสพข่าวที่หดหู่ก็จะเครียดได้ง่าย

คนที่มีโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าอยู่แล้ว จะถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการเสพข่าวที่หดหู่ รวมถึงคนที่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์เยอะ ก็มีโอกาสที่จะรับรู้ข่าวทั้งที่จริงและปลอม ทั้งดีและร้ายได้เยอะ และคนที่ขาดวิจารณญาณในการเสพข่าว อาจเป็นด้วยวัย วุฒิภาวะ หรือบุคลิกภาพ มีแนวโน้มจะเชื่อพาดหัวข่าวในทันทีที่เห็นได้ง่าย

จัดการอย่างไรกับความเครียดจากการเสพข่าวหดหู่

สำหรับคำแนะนำในการจัดการความเครียดจากการเสพข่าวหดหู่ทั่วไปด้วยตนเอง คือ จำกัดเวลาในการเสพข่าว เคร่งครัดกับเวลาที่กำหนดไว้, หากเครียดมากอาจงดเสพข่าวหรือใช้สื่อสังคมออนไลน์ไปสักพัก, อย่าเชื่อพาดหัวข่าวที่เห็นในทันที เพราะพาดหัวข่าวมักใช้คำกระตุ้นอารมณ์ดึงดูดให้คนสนใจ แนะนำให้อ่านรายละเอียดของข่าวด้วย

ตรวจสอบข่าวก่อนจะเชื่อ อ่านข่าวจากสื่อที่เชื่อถือได้ เพราะปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์กันมาก, หากเป็นข่าวด่วนอาจรอสักหน่อยให้มีข้อมูลและความจริงมากขึ้นแล้วค่อยอ่านในรายละเอียดข่าว, พยายามมองหาสิ่งที่ดีในข่าวที่อ่านบ้าง ทุกอย่างมีทั้งด้านดีและร้ายเสมอ

อ่านข่าวที่ดีต่อใจบ้าง อย่าเสพแต่ข่าวที่หดหู่, อย่าเสพข่าวก่อนนอน เพื่อให้สมองได้พักและหลับได้ดี, ทำกิจกรรมคลายเครียด ผ่อนคลายบ้าง อย่าเอาแต่ติดตามข่าวทั้งวัน และพูดคุยกับคนอื่นบ้าง การหมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งคนเดียวจะยิ่งทำให้จมกับความคิดลบๆ ได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม หากทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้วยังเครียดมากอยู่ ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ chatbot 1323 หรืออาจปรึกษานักจิตวิทยา-จิตแพทย์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมสุขภาพจิต แนะ ดูแลจิตใจผู้เกี่ยวข้องเหตุกราดยิง-งดซักถาม

แถลงร่วม ขอความร่วมมือนำเสนอข่าวกราดยิงยึดหลักจริยธรรม

2 สมาคมสื่อขอความร่วมมือนำเสนอข่าว “กราดยิงหนองบัวลำภู”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง