ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็กอาการ "ซึมเศร้าหลังปีใหม่" แนะ 4 แนวทางรับมือ

สังคม
5 ม.ค. 68
14:37
738
Logo Thai PBS
เช็กอาการ "ซึมเศร้าหลังปีใหม่" แนะ 4 แนวทางรับมือ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เช็กอาการ "ภาวะซึมเศร้าหลังปีใหม่ (New Year Blues)" แนะ 4 แนวทางหลีกเลี่ยงการเผชิญอาการ พร้อมประเมินสภาวะทางจิตใจด้วยตนเอง

ภาวะซึมเศร้าหลังปีใหม่ (New Year Blues) หรือ ภาวะเศร้าหลังวันหยุดยาว คืออาการที่เกิดขึ้นหลังจากช่วงเทศกาลวันหยุด เช่น วันปีใหม่ หรือวันคริสต์มาส ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายๆ คนรู้สึกตื่นเต้น สนุกสนาน หรือมีการสังสรรค์กับครอบครัวและเพื่อนฝูง แต่หลังจากช่วงเวลานั้นผ่านไป อาจเกิดอาการซึมเศร้าหรือความรู้สึกสูญเสียขึ้นมาได้

จากการเผชิญภาวะ "ซึมเศร้าหลังปีใหม่ (New Year Blues)" โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่าประชาชนหลายคนได้พบหลากหลายเหตุการณ์ ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบต่อการเกิดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เผชิญกับภาวะ Post-Vacation Depression หรือที่เรียกว่าภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว

แม้ว่าภาวะดังกล่าวไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่เป็นสภาวะทางอารมณ์ที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งสภาวะดังกล่าวมักจะมีอาการคงอยู่ 2 - 3 วัน แต่ในบางรายอาจยาวนานถึง 2 - 3 สัปดาห์ จนกระทบต่อการใช้ชีวิตโดยอาการสำคัญที่พบ ได้แก่

  • ภาวะซึมเศร้า หดหู่ หรือท้อแท้
  • ความเหนื่อยล้า 
  • รู้สึกเบื่อ เซ็ง
  • ไม่อยากพบปะผู้คน
  • ขาดแรงจูงใจ ขาดแรงใจ ความกระตือรือร้น
  • ความรู้สึกหมดพลัง
  • ความวิตกกังวล
  • รู้สึกโดดเดี่ยว

แนวทางการดูแลตนเอง 4 ข้อ ดังนี้

1. เปิดใจพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับคนใกล้ชิด

2. เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกลุ่ม

3. กำหนดเป้าหมายชีวิตที่เป็นรูปธรรมและท้าทายอย่างเหมาะสม

4. ขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อพบว่าอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

www.วัดใจ.com ประเมินด้านภาวะซึมเศร้า

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพจิต ตลอดจนเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภาวะทางอารมณ์เบื้องต้น รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนประเมินสภาวะทางจิตใจด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.วัดใจ.com ซึ่งจะประเมินสภาวะทางสุขภาพจิตครอบคลุมทั้งด้านภาวะซึมเศร้า ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟในการทำงาน หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะทางด้านสุขภาพจิตจากการประเมิน จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อให้คำปรึกษาต่อไป

การดูแลสุขภาพจิตของประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันการเปลี่ยนทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงต้องมีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่ายครอบคลุม และสอดคล้องกับความต้องการ สำหรับประชาชนที่มีอาการดังข้างต้น ควรขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือประเมินสภาวะทางจิตใจและรับคำแนะนำในการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมผ่านทางเว็บไซต์ www.วัดใจ.com

อ่านข่าว : 

เช็กวันหยุดปีใหม่ ธนาคาร - ไปรษณีย์ - ขนส่งเอกชน หยุดวันไหนบ้าง ?

ปีใหม่ 2568 ลอกคราบเหมือนงู! เริ่มต้นชีวิตใหม่ "เปลี่ยนแปลง-เติบโต"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง