ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"หมอล็อต" เตือนอย่ามุดโพรงต้นไม้ เสี่ยงป่วยฮิสโตพลาสโมซิส

สังคม
5 ต.ค. 65
15:56
906
Logo Thai PBS
"หมอล็อต" เตือนอย่ามุดโพรงต้นไม้ เสี่ยงป่วยฮิสโตพลาสโมซิส
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุทยานฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบต้นไม้ใหญ่อายุกว่าร้อยปี ภายในอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง หลังพบเคสป่วยจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา ชี้จุดดังกล่าวไม่ได้เปิดท่องเที่ยวและเตรียมกำหนดเป็นพื้นที่พิเศษอนุรักษ์ค้างคาว เตือนนักท่องเที่ยวอย่ามุดเข้าโพรงต้นไม้

จากกรณีมีข่าวการเกิดโรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) ของคณะกลุ่มศึกษาธรรมชาติ ในพื้นที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) ที่ลอยขึ้นมาในอากาศจากมูลค้างคาวที่ตกลงบนพื้นดินเข้าไปในปอด

 

วันนี้ (5 ต.ค.2565) น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับทีมอาจารย์และนักวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งมูลค้างคาวและดินภายในโพรงต้นไม้ และสวอปผนังโพรงต้นไม้ดังกล่าว เพื่อตรวจหาเชื้อโรคต่าง ๆ ทางห้องปฎิบัติการ และวางแผนที่จะทำการสำรวจและเฝ้าระวังโรคเชิงรุกในพื้นที่

ตีแนวรัศมี 10 เมตร ห้ามเข้าใกล้ "ต้นไม้" ที่อยู่ค้างคาว

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง ได้ตีแนวเส้นล้อมจำกัดพื้นที่รัศมี 10 เมตร เพื่อป้องกันคนเข้าใกล้ต้นไม้ หรือเข้าไปในโพรงต้นไม้ที่มีค้างคาวอาศัยอยู่ และเตรียมกำหนดเป็นพื้นที่พิเศษ ในการให้ความรู้ และป้องกันไม่ให้ค้างคาวเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือเคลื่อนย้ายถิ่น

จากการสำรวจต้นไม้ พบว่า เป็นช้าม่วงขนาดใหญ่ อายุกว่าร้อยปี ด้านนอกมีโพรงขนาดคนเข้าไปได้ ข้างในเป็นเป็นโพรงขนาดใหญ่ คนเข้าไปได้ประมาณ 7 คน และมีค้างคาวอาศัยอยู่ เช่น ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก

ขอให้ตื่นรู้ว่าเราอยู่ภายใต้บริบทของโรคติดต่อ เช่น COVID-19 โดยเฉพาะโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเฉพาะสัตว์ป่า เหตุการณ์นี้จึงเป็นการตื่นรู้ และสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความเสี่ยง

เตือนอย่าเข้าโพรงต้นไม้ เสี่ยงเจอเชื้อโรค-สัตว์มีพิษ

สภาพแวดล้อมในโพรงต้นไม้ เหมาะแก่การอาศัยของค้างคาว และการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อราชนิดต่าง ๆ ซึ่งอุณหภูมิ ความชื้น มีช่องทางเข้าออกทางเดียว ลมไม่พัดผ่าน โอกาสพบความเข้าข้นของเชื้อราในอากาศจะสูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ เหมาะสมเป็นอย่างมากกับการเจริญเติบโตของเชื้อ

เมื่อคนเข้าไปในช่วงกลางวัน ซึ่งค้างคาวกำลังนอนพักนั้น การส่งเสียงดัง การถ่ายภาพ แสงแฟลช การส่องไฟ จะทำให้ค้างคาวตกใจ เครียด อึ ฉี่ และส่งเสียงร้อง ทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ ฟุ้งกระจายในโพรงได้ หากคนเข้าไปแล้วไม่ใส่หน้ากากก็อาจสูดเอาเชื้อโรคดังกล่าวเข้าไปได้ หรือถึงแม้จะใส่หน้ากากก็อาจทำให้ร่างกายปนเปื้อนจากสารคัดหลั่งจากค้างคาว และอาจเกิดโรคขึ้นมาได้

สำหรับจุดดังกล่าวไม่ได้เปิดเป็นพื้นที่ที่อุทยานฯ เปิดให้ท่องเที่ยว ซึ่งคณะดังกล่าวได้เดินผ่านเส้นทาง แวะถ่ายรูป และเข้าไปในโพรงต้นไม้ขนาดใหญ่

ไม่ควรเข้าไปในโพรงต้นไม้ เพราะเป็นพื้นที่ปิด แคบ อากาศไม่ถ่ายเท เสี่ยงติดเชื้อโรคและอันตรายจากสัตว์มีพิษ

หากมีอาการป่วยให้พบแพทย์-เอ็กซเรย์ปอด

ทางทีมคณะทำงาน กรมอุทยานฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย โรงพยาบาลทุ่งสง และหน่วยงานสาธารณสุขเขต และจังหวัดนครศรีธรรมราช หน่วยงานปกครองท้องถิ่นต่าง ๆ ร่วมบูรณาการภายใต้กรอบสุขภาพหนึ่งเดียว เข้าพูดคุยและแนะนำแนวทางปฎิบัติให้แก่ชาวบ้านบริเวณพื้นที่ ถึงข้อควรระวังและหากเคยเข้าไปในโพรงต้นไม้ต้นนี้ โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย ควรไปพบแพทย์ เพื่อเอ็กซเรย์ปอด และแจ้งให้แพทย์ทราบว่า มีประวัติการคนที่อายุน้อยสุขภาพแข็งแรง ถึงติดเชื้อรา ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หายเองได้ ไม่ต้องรักษา คนที่อายุมากมีโรคประจำตัว ต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้จัดทำคู่มือความรู้ “การอยู่ร่วมกันกับค้างคาวอย่างปลอดภัย” แจกจ่ายให้กับประชาชน เพื่อตื่นรู้ และระมัดระวังในการดำเนินชีวิต

แนะ 5 ข้อควรรู้ก่อนเข้าถ้ำ

น.สพ.ภัทรพล ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกและสามารถท่องเที่ยวในถ้ำที่เปิดให้ท่องเที่ยวได้ตามปกติ พร้อมแนะนำให้สวมเสื้อแขนยาว สวมหน้ากากอนามัย สวมหมวก ใส่แว่นตาใส ที่สำคัญไม่ควรนำอาหารเข้าไปกินในถ้ำ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

พบคณะเดินป่า มุดโพรงต้นไม้ดูค้างคาว ป่วย "ฮิสโตพลาสโมซิส"

รู้จัก "โรคฮิสโตพลาสโมซิส" หายใจรับสปอร์เชื้อราจากมูลค้างคาว-นก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง