“ป้ายกองโจร” เป็นคำที่ใช้เรียก ป้ายโฆษณาหลากหลายขนาดที่ผู้ประกอบการจัดทำขึ้น เพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ เช่น เสาไฟฟ้า ต้นไม้ ฯลฯ เป้าหมายเพื่อโฆษณาธุรกิจหรือกิจการของตัวเอง โดยเน้นติดตั้งในช่วงเวลาสั้นๆ
รูปแบบของป้ายกองโจร จะติดตั้งในคืนวันศุกร์ และ ปลดออกในคืนวันอาทิตย์ เพื่อหลบเลี่ยงการถูกจับปรับ จากนั้น จะวนเวียนกลับมาติดตั้งซ้ำใหม่ในสัปดาห์ถัดไป นี่เป็นข้อมูลที่ได้ตรงกันจากเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักเทศกิจ และ ผอ.กองรายได้ สำนักการคลัง
“ป้ายกองโจร” มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ภาษีป้าย และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
นายโอฬาร อัศวพลังกูล ผู้อำนวยการกองรายได้ สำนักการคลัง กทม. ระบุว่า สำหรับ พ.ร.บ.ภาษีป้ายนั้นกำหนดไว้ว่า ประชาชนผู้เป็นเจ้าของป้ายที่ทำขึ้นเพื่อประกอบการค้าหรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้มีหน้าที่ต้องชำระภาษีป้าย โดยต้องเข้ายื่นแบบเพื่อชำระภาษีป้ายภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
ไม่ว่าจะเป็นป้ายเล็กป้ายใหญ่ กทม.จัดเก็บภาษีป้ายหมด ส่วนป้ายโฆษณาที่ติดตั้งในพื้นที่ผิดกฎหมายแต่อย่างไรก็ต้องมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายอยู่ดี
ส่วนป้ายกองโจร ที่ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ข้อมูลจากสำนักเทศกิจ ตั้งแต่ 8 พฤษภาคม 2561 – 11 กรกฏาคม 2565 เทศกิจทั้ง 50 สำนักงานเขต จัดเก็บป้ายที่ติดตั้งในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ 239,139 ป้าย แบ่งเป็น
ป้ายนักการเมือง 6,528 ป้าย
ป้ายบนสะพานลอย 117 ป้าย
ป้ายบดบังทัศนวิสัยการสัญจร 319 ป้าย
ป้ายเกาะกลางถนน 676 ป้าย
ป้ายอวยพรในเทศกาลต่าง ๆ 116 ป้าย
ป้ายเลียนแบบป้าย กทม. 1,277 ป้าย
ป้ายติดตามผนัง กำแพง รั้ว 7,376 ป้าย
ป้ายหมู่บ้านจัดสรร/ป้ายคนถือ 113,943 ป้าย
ป้ายอื่น ๆ 108,787 ป้าย
ในจำนวนป้ายทั้งหมด พบว่า เป็นป้ายเกี่ยวกับหมู่บ้านจัดสรรและป้ายคนถือมากที่สุด 113,943 ป้ายตลอด 4 ปี เจ้าหน้าที่เทศกิจปรับเจ้าของป้ายทั้งหมดรวมเป็นเงินกว่า 15 ล้านบาท
นายณรงค์ศักดิ์ สัมมาเพ็ชร์ เทศกิจส่วนตรวจและบังคับการ 2 สำนักงานตรวจและบังคับการ สำนักเทศกิจ กทม. ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาเทศกิจแต่ละสำนักงานเขต กวดขันจัดเก็บป้ายที่ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะเป็นประจำ ขณะที่ เทศกิจจากส่วนกลาง สำนักเทศกิจ มีหน้าที่ออกตรวจตามพื้นที่ต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายเพื่อเข้าไปติดตามการทำงานของเทศกิจสำนักงานเขตอีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายจัดระเบียบเมืองของ กทม.
เมื่อพบป้ายโฆษณาติดตั้งผิดกฎหมายในพื้นที่สาธารณะ จะถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นประสานงานไปยังเทศกิจสำนักงานเขต ให้เข้าดำเนินการจัดเก็บทันที ซึ่งในการเข้าจัดเก็บต้องรายงานการดำเนินการให้ส่วนกลางทราบด้วย
3 วัน 2 คืน กลยุทธ์ป้ายกองโจรเลี่ยงจับ-ปรับ
“หมู่บ้านจะติดตั้งทุกวันศุกร์ และวันอาทิตย์ก็ปลดป้าย เป็นการจงใจเลี่ยงจ่ายภาษีป้าย ไม่ได้มีเจตนายื่นแบบแสดงรายการ เพราะติดตั้ง 3 วัน แล้วก็ปลดลง สัปดาห์ถัดไปก็ทำใหม่ เทศกิจก็ดำเนินการจับปรับไม่เสร็จ”
เวลาประมาณ 3 ทุ่ม วันอาทิตย์ ทีมข่าวลงพื้นที่ถนนศรีนครินทร์ เขตสวนหลวง กทม. เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ได้จาก นายโอฬาร อัศวพลังกูล ผอ.กองรายได้ สำนักการคลัง กทม. พบรถกระบะคันหนึ่งตระเวณเก็บป้ายโฆษณาหมู่บ้านจัดสรรที่ติดตั้งตลอดแนวเสาไฟฟ้า ริมถนนศรีนครินทร์
ท้ายรถกระบะ มีป้ายกองอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง บ่งบอกว่า รถคันนี้เก็บป้ายจากจุดอื่น ๆ มาก่อนแล้ว
จากการสำรวจริมถนนศรีนครินทร์ ทีมข่าว พบป้ายกองโจร 27 ป้าย จาก 3 บริษัท มีทั้งป้ายขนาดความยาว 240 เซนติเมตร กว้าง 120 เซนติเมตร และขนาดความยาว 120 เซนติเมตร กว้าง 120 เซนติเมตร คิดเป็นเงินภาษีป้ายที่ต้องจ่ายโดยประมาณ 27,144 บาทต่อปี
นางเรณู ซื่อสัตย์ ผู้อำนวยการเขตสวนหลวง ให้ข้อมูลว่า ป้ายทั้งหมดที่ทีมข่าวสำรวจพบตลอดแนวถนนศรีนครินทร์ ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และเจ้าของป้ายไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี
อนุญาตไม่ได้ ถึงมาขอก็อนุญาตไม่ได้ เขาไม่แจ้งเสียภาษีเราต้องไปตามเก็บ ฝ่ายรายได้ก็ตามเก็บมา
ผู้อำนวยการเขตสวนหลวง บอกอีกว่า การจัดเก็บภาษีป้ายกองโจร ต้องมีหลักฐานการติดตั้งอาจเป็นภาพถ่าย หรือเจ้าหน้าที่ออกตรวจพื้นที่พบการโฆษณา เฉพาะปีนี้สำนักงานเขตสวนหลวงจัดเก็บภาษีป้ายกองโจรได้รวม 100 ป้าย เป็นเงิน 74,850 บาท
ข้อมูลจากสำนักเทศกิจ ระบุว่า ตลอด 4 ปี พบป้ายกองโจรโฆษณาหมู่บ้านจัดสรรที่ติดตั้งในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต 113,943 ป้าย ทำให้เกิดคำถามว่า หากป้ายกองโจรเหล่านี้ ชำระภาษีป้ายอย่างถูกต้อง จะทำให้ กทม.มีรายได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน
เร่งอุดรอยรั่ว "ป้ายกองโจร" เลี่ยงภาษี
นายโอฬาร อัศวพลังกูล ผอ.กองรายได้ สำนักการคลัง กทม. บอกว่า การจัดเก็บภาษีป้ายกองโจรมีความเกี่ยวข้องระหว่าง 2 หน่วยงาน ของ กทม. คือ สำนักเทศกิจ กับ สำนักการคลัง
ที่ผ่านมายังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนให้ฝ่ายเทศกิจ กับ ฝ่ายรายได้ ในแต่ละสำนักงานเขต ร่วมกันดำเนินการจัดเก็บภาษีป้ายกองโจรอย่างจริงจัง จึงเกิดกรณีที่บางสำนักงานเขตดำเนินการ แต่บางสำนักงานเขตไม่ดำเนินการ
“ถ้าจะเก็บภาษีด้วยจับปรับด้วย ต้องมีการถ่ายรูป วัดขนาดป้าย และให้ผู้ที่เสียค่าปรับเซ็นชื่อในหนังสือว่าเสียค่าปรับวันไหนเป็นหลักฐานส่งให้ฝ่ายรายได้ เราจะได้มีหลักฐานชี้แจงเวลาเขาไม่มายื่นแบบแสดงรายการ แล้วสามารถตามเขามาเสียภาษีป้าย ว่าคุณได้ติดตั้งป้าย ณ วันนั้น มีการปรับเป็นเงินเท่าไร ป้ายมีขนาดเท่าไร ตามภาพหลักฐานที่แสดงเราก็จะประเมินภาษีป้ายได้”
ล่าสุด กทม.โดยสำนักการคลัง กำหนดแนวทางจัดเก็บภาษีป้าย กรณีป้ายที่ติดตั้งโดยไม้ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและป้ายที่ติดตั้งบริเวณอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ ลงวันที่ 12 กันยายน 2565 แจ้งไปยังสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ระบุว่า " ป้ายที่เข้าองค์ประกอบของบทนิยามของคำว่า "ป้าย" แต่ไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการสำหรับภาษีป้าย หากเจ้าหน้าที่หาเจ้าของป้ายไม่พบให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย และ หากไม่พบผู้ครอบครองป้าย ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่เป็นผู้เสียเสียภาษีป้ายตามลำดับ"
และ " ป้ายที่ติดตั้งในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เมื่อฝ่ายเทศกิจ พบการติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ประสานฝ่ายรายได้ โดยแจ้งชื่อเจ้าของป้าย พร้อมภาพถ่าย ขนาดป้าย ตำแหน่งที่ติดตั้ง เพื่อดำเนินการจัดเก็บภาษีป้ายต่อไป "
มีข้อมูลว่า ในปีงบประมาณ 2565 ข้อมูล ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 กทม. มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีป้ายกว่า 975 ล้านบาท หากกระบวนการจัดเก็บภาษีป้ายกองโจรมีความชัดเจน คาดว่า กทม. จะมีรายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น