วันนี้ (28 ก.ย.2565) กองทัพเดนมาร์กเผยภาพแสดงให้เห็นความผิดปกติบนผิวน้ำเหนือทะเลบอลติก โดยมีฟองอากาศสีขาวผุดขึ้นบนผิวน้ำจนกลางเป็นวงขนาดใหญ่เหนือแนวท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 1 และ 2 พร้อมระบุว่า สาเหตุเบื้องหลังคือก๊าซรั่วปริมาณมาก จนทำให้เกิดฟองอากาศเป็นวงขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลางกว้างกว่า 1 กิโลเมตร
ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวในสวีเดน เปิดเผยว่า ตรวจพบการระเบิด 2 ครั้ง ในทะเลบอลติก โดยครั้งล่าสุดซึ่งเชื่อมโยงกับการรั่วไหลของก๊าซครั้งนี้วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 2.3 หากเทียบกับแผ่นดินไหว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมีข้อมูลเทียบชัดเจนระหว่างการระเบิดใต้น้ำกับแผ่นดินไหว มั่นใจได้ว่า ไม่ใช่แผ่นดินไหวแน่นอน
ท่อส่งก๊าซจุดนี้เชื่อมจากรัสเซียผ่านทะเลบอลติก ปลายทางคือตอนเหนือของเยอรมนี จุดที่พบก๊าซรั่วในแนวท่อนอร์ด สตรีม 1 มี 2 จุด จุดหนึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของสวีเดน อีกจุดในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเดนมาร์ก
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้หลายชาติยุโรปเร่งเดินหน้าสอบสวนเพื่อหาสาเหตุ ขณะที่หลายประเทศต่างออกมากล่าวหาเป็นเสียงเดียวกันว่า เหตุนี้เกิดจากการโจมตีจงใจทำให้ท่อก๊าซรั่ว
นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ระบุว่า จะตัดประเด็นการลอบโจมตีออกไปไม่ได้ หลังจากก่อนหน้านี้เพิ่งจะพบรอยรั่ว 3 จุดในท่อส่งนอร์ด สตรีม 1 และ 2 จึงยากที่จะเชื่อว่าทั้งหมดเป็นเรื่องบังเอิญแต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป
นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ ระบุว่า นี่คือเหตุวินาศกรรมที่น่าจะเชื่อมโยงกับเรื่องสงครามในยูเครน ขณะที่ ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน ระบุว่า เหตุนี้เป็นท่าทีก้าวร้าวที่รัสเซียกระทำต่อสหภาพยุโรป (อียู) ถึงกับเรียกว่า เป็นการก่อการร้าย เพื่อสร้างความตื่นตระหนกก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว
ส่วนสื่อเยอรมัน รายงานว่า ทางการไม่ตัดประเด็นเรื่องการโจมตีเช่นกัน ดังนั้นตอนนี้มีทั้งทางการเยอรมนี เดนมาร์ก และสวีเดนที่กำลังสอบสวนเรื่องนี้
ส่วนดิมิทรี เพสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ระบุว่า ข่าวการรั่วของท่อก๊าซน่าวิตกและเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงต้องมีการสอบสวนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของทั้งทวีปยุโรป
รัสเซียไม่ส่งก๊าซผ่านนอร์ด สตรีม 1 ตั้งแต่ ส.ค. ส่วนนอร์ด สตรีม 2 ระงับไปตั้งแต่เริ่มบุกยูเครนเดือน ก.พ. แต่ในท่อยังมีก๊าซอยู่ ดังนั้นในด้านพลังงานก็ไม่ได้กระทบต่อปริมาณก๊าซสำหรับการอุปโภคบริโภคในยุโรป
แต่ในด้านความปลอดภัยภาพของฟองอากาศนี้อย่าลืมว่านี่คือมีเทน ที่ติดไฟง่าย นอกจากเสี่ยงจะมีเรือแล่นเข้าไปเจอความเคลื่อนไหวในน้ำที่อาจทำให้เสียศูนย์ ยังเสี่ยงจะเกิดระเบิดได้ ทางการสวีเดนเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดไม่ให้มีเรือแล่นเข้าไปใกล้
หน่วยงานด้านพลังงานของเดนมาร์ก ระบุว่า สถานการณ์แบบนี้ที่ยังมีก๊าซรั่วออกมาเรื่อย ๆ น่าจะเกิดขึ้นติดต่อกันไปอีกหลายวันหรือนับสัปดาห์
นักวิเคราะห์จากเดนมาร์ก อธิบายว่า ท่อส่งก๊าซค่อนข้างเปราะบาง เช่นเดียวกับโครงสร้างต่าง ๆ ที่ไปสร้างบนก้นทะเลเปราะบางทั้งสิ้น สำหรับระบบท่อส่งก๊าซจะมีตัวท่อมีสายสื่อสาร มีระบบสายไฟเดินอยู่บนก้นทะเล ซึ่งยากจะเฝ้าสังเกตการณ์และเฝ้าระวังการลอบโจมตี
หากจะพูดถึงการก่อเหตุมองว่า ไม่ได้ยากมากแค่มีเรือมีนักประดาน้ำที่เชี่ยวชาญเรื่องวัตถุระเบิดอาจจะมีอุปกรณ์ดำน้ำที่พิเศษหน่อยหรือจะใช้พวกเรือดำน้ำขนาดเล็ก ๆ ก็ได้ ดังนั้นในทางเทคนิคจึงมองว่า เหตุการณ์แบบนี้หากจะโจมตีต่อให้ไม่ต้องเป็นคนของรัฐบาลหรือกองทัพไหน ๆ ก็ทำได้
แต่หากเหตุการณ์นี้เป็นการลอบโจมตีจริง นักวิเคราะห์มองว่า จะถือเป็นตัวอย่างของการสงครามแบบผสมผสาน ซึ่งความท้าทายคือจะจับมือใครดมก็ยาก คราวนี้อาจจะต้องประเมินจากฝ่ายที่ได้ประโยชน์ เช่น ตลาดค้าก๊าซในยุโรปจะผันผวนมากขึ้นหรือไม่
จากเหตุการณ์นี้ มองว่า น่าจะเป็นรัสเซียที่ได้ประโยชน์ เพราะเป็นฝ่ายที่กำลังใช้เรื่องพลังงานบีบและกดดันชาติยุโรปอย่างหนัก โดยเฉพาะยิ่งเข้าใกล้หน้าหนาวมากขึ้นทุกที