ทูตแพนด้า ณ สวนสัตว์เชียงใหม่
แม้ตอนนี้เหลือ หลินฮุ่ย แพนด้ายักษ์เพศเมีย วัย 21 ปี เพียงตัวเดียว ประจำอยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ หลังจาก ช่วงช่วง แพนด้ายักษ์เพศผู้วัย 19 ปี ตายไปจากสภาวะหัวใจล้มเหลวเมื่อสามปีก่อน แต่ส่วนจัดแสดงแพนด้ายักษ์ สวนสัตว์เชียงใหม่ ก็ยังอยู่ในความสนใจของผู้เข้าชม
ข้อมูลจากสวนสัตว์เชียงใหม่ ระบุว่า นับตั้งแต่ตุลาคม 2546 ถึงเดือนสิงหาคม 2565 ส่วนจัดแสดงแพนด้าต้อนรับผู้เข้าชมอย่างน้อย 7.4 ล้านคน
จนถึงวันนี้ หลินฮุ่ย อยู่ไทยในฐานะทูตสันถวไมตรีไทย-จีน มา 19 ปีแล้ว และวันที่ 28 กันยายน คือวันครบรอบวันเกิดของหลินฮุ่ย
นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ บอกว่า หลินฮุ่ยยังมีสุขภาพดี อยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด ภายใต้มาตรฐานที่ทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ CWCA กำกับ นอกจากบทบาททูตแล้ว มันยังเป็นแหล่งศึกษาสำคัญเรื่องการเจริญพันธุ์ของแพนด้ายักษ์ ให้กับนักวิจัยไทยและนานาชาติด้วย
เราทำวิจัยแบบ Routine to Research ให้นักวิจัยและพนักงานเลี้ยงบันทึกพฤติกรรมในแต่ละวัน แล้วนำข้อมูลมาแบ่งปันให้กับนักวิจัยในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อเข้าใจพฤติกรรมและการเจริญพันธุ์ของแพนด้ายักษ์มากขึ้น เพราะแพนด้าในประเทศต่างๆ มีขั้นตอนการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันออกไป ภายใต้การกำกับของ CWCA
การทูตแพนด้า
การทูตแพนด้า หรือ Panda diplomacy เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2484 เป็นวิธีอย่างหนึ่งทางการทูตที่ประเทศจีนใช้เชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ หรือแสดงออกถึงความใกล้ชิดทางการเมือง
จีนจะส่งแพนด้ายักษ์ไปให้ในลักษณะของขวัญ เพราะมันเป็นสัตว์หายาก พบได้ในป่าทางตอนกลางของประเทศจีนเท่านั้น และไม่พบสัตว์ชนิดนี้ในประเทศอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมแพนด้ายักษ์จึงมีความพิเศษ
ภายหลังพบว่า ประชากรแพนด้ายักษ์ในประเทศจีนลดลง ทำให้ปี 2527 เป็นต้นมา จีนเปลี่ยนแนวทางเป็นการส่งแพนด้ายักษ์ไปอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในลักษณะสัญญาเช่าเพื่อการอนุรักษ์แทน (Leased)
ในสัญญาเช่าระบุว่า ประเทศคู่สัญญาต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานรายปี และมีข้อกำหนดว่า ลูกของแพนด้ายักษ์ที่เกิดระหว่างสัญญา ให้ถือเป็นทรัพย์สินของประเทศจีน
โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมค่าลูกแพนด้าเพิ่มเติม ในแต่ละปีด้วย โดยจำนวนเงินที่จ่าย ขึ้นอยู่กับการเจรจาของแต่ละประเทศ
ปัจจุบันแพนด้ายักษ์ของจีนอยู่ประจำสวนสัตว์ 22 แห่งใน 18 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือสวนสัตว์เชียงใหม่ ประเทศไทย
ที่มาของการทูตแพนด้าในไทย
ย้อนกลับไปในปี 2544 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น คือผู้เริ่มต้นเจรจาขอแพนด้าจากจีนมาอยู่ไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์ไมตรีระหว่างสองประเทศ
จากนั้นในเดือนตุลาคม 2546 แพนด้ายักษ์ 2 ตัว ช่วงช่วงและหลินฮุ่ย จึงได้มาอยู่ไทยในเดือนตุลาคม 2546 โดยสวนสัตว์เชียงใหม่เป็นผู้ดูแลแพนด้าทั้งสองตัว
ต่อมาหลินฮุ่ยคลอดลูกแพนด้ายักษ์เพศเมียชื่อ หลินปิง ในเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการผสมพันธุ์เทียม
ส่องงบไทยในนโยบายทูตแพนด้า
ช่วงช่วง หลินฮุ่ย และหลินปิง สร้างกระแสแพนด้าฟีเวอร์ให้ไทยอยู่พักใหญ่ ถนนเกือบทุกสายมุ่งสู่เชียงใหม่ จนทำให้การท่องเที่ยวเชียงใหม่คึกคัก มีชีวิตชีวา ยังไม่นับรวมช่องถ่ายทอดสด และส่งประกวดตั้งชื่อแพนด้าผ่านไปรษณียบัตร ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก
ในเวลาเดียวกัน พบว่า หลายหน่วยงานของไทยก็มีโครงการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับแพนด้าอย่างน้อย 16 โครงการ งบรวมกันกว่า 130 ล้านบาท
ข้อมูลจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน รัฐบาลจัดสรรงบมากกว่า 98 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโครงการวิจัยและส่วนจัดแสดงแพนด้าในสวนสัตว์เชียงใหม่ รายละเอียดดังนี้
ปี 2545
ครม.อนุมัติงบกลาง ค่าก่อสร้างส่วนวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า สร้างโดยกองพลทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี จ.ราชบุรี 39,818,313 บาท
ปี 2546
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ก่อสร้างและปรับปรุงและขยายเพิ่มเติมการก่อสร้างโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า 7,614,000 บาท
ปี 2550
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ จ้างปรับปรุงส่วนจัดแสดงแพนด้า 28,000,000 บาท
ปี 2552
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ทำระบบประหยัดพลังงานไฟฟ้าในส่วนจัดแสดงโครงการแพนด้า 3,480,000.00 บาท
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ จ้างทำระบบทำความเย็นภายในส่วนจัดแสดงแพนด้า 17,380,000 บาท
ปี 2554
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ จัดจ้างทำงานโครงการก่อสร้างโรงผลิตกระดาษ และของที่ระลึกจากมูลหมีแพนด้า พร้อมระบบบำบัดน้ำเสียภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ 1,590,000 บาท
ปี 2555
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ จัดหาครุภัณฑ์โครงการแพนด้า ซื้อเครื่องปั่นเหวี่ยงสาร 1 เครื่อง ราคา 96,000 บาท และกล้องจุลทรรศน์หัวกลับชนิด 3 ตา 1 เครื่อง ราคา 349,000 บาท รวมมูลค่า 445,500 บาท
ปี 2559
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ จ้างหาช่างผู้ชำนาญการซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศ ส่วนแสดงแพนด้าภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ 308,160 บาท
ปี 2563
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ซื้อกล้องวงจรปิด 32 ตัว พร้อมติดตั้ง โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ 286,860 บาท
ปี 2564
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ จ้างก่อสร้างโครงการปรับปรุงหลังคาส่วนจัดแสดงหมีแพนด้า ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ 2,598,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีงบอื่นๆ อีกกว่า 31 ล้านบาท เช่น งบพิมพ์ไปรษณียบัตรรูปแพนด้า งบผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ งบติดตั้งระบบถ่ายทอดสดแบบ Realtime และงบรับขวัญแพนด้าเกิดใหม่ “หลินปิง” รายละเอียด ดังนี้
ปี 2551
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ จ้างผลิตสปอตและเผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์ โครงการร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือศูนย์อนุรักษ์และวิจัยแพนด้าในจีน 1,926,000 บาท
ปี 2552
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ จ้างดำเนินการจัดทำระบบการถ่ายทอดสด “โครงการติดตามการเจริญเติบโตของลูกหมีแพนด้า” แบบ Real Time 5,778,000 บาท
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จ้างพิมพ์ไปรษณียบัตรแบบใหม่ (ภาพหมีแพนด้า) 750,000 แผ่น งบประมาณ 9,630,000 บาท
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซื้อตุ๊กตาหมีแพนด้า จำนวน 2,000 ตัว งบประมาณ 9,860,000 บาท
อบจ.เชียงใหม่ทำโครงการรับขวัญแพนด้าเกิดใหม่ 1,995,000 บาท
อบจ.เชียงใหม่ ทำป้ายประชาสัมพันธ์แสดงความยินดีลูกแพนด้า 1,995,000 บาท
สัญญาเช่าแพนด้า
เมื่อมาดูสัญญาให้แพนด้าช่วงช่วงและหลินฮุ่ยอยู่ไทยในช่วงสิบปีแรก ระหว่างเดือนตุลาคม 2546 ถึง ตุลาคม 2556 พบว่า ไทยส่งเงินสนับสนุนเข้าโครงการอนุรักษ์แพนด้า สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ CWCA ปีละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นระยะเวลา 10 ปี
เมื่อหลินปิงเกิดในปี 2552 ไทยส่งเงินเพิ่มเติมอีกปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไปอีกสี่ปี จนกระทั่งหลินปิงกลับไปหาคู่ที่จีน
จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 เห็นชอบให้ไทยต่อสัญญารอบที่สอง ระหว่างเดือนตุลาคม 2556 ถึง ตุลาคม 2566 โดยไทยเพิ่มเงินสนับสนุนโครงการอนุรักษ์แพนด้าของ CWCA เป็นสองเท่าสำหรับช่วงช่วงและหลินฮุ่ย คือ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่หลังจากช่วงช่วงตายในปี 2562 ไทยลดเงินสนับสนุนลง เหลือเพียงปีละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐไปจนถึงเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดสัญญาระยะที่สอง
โครงการอนุรักษ์แพนด้าของ CWCA จึงได้เงินสนับสนุนจากไทยไปทั้งหมด 6.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 230.49 ล้านบาท สำหรับสัญญาทั้งสองระยะรวมกัน หากรวมกับงบประมาณที่หน่วยงานต่างๆ เบิกใช้ในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา พบว่าไทยใช้เงินไปอย่างน้อย 360.59 ล้านบาท กับนโยบายการทูตแพนด้า
นอกจากนี้ ในข้อตกลงที่ผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2558 ยังระบุเพิ่มเติมว่า กรณีที่แพนด้าตายในประเทศไทยด้วยเหตุประมาทของฝ่ายไทย ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตัวละ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าเป็นลูกหมีแพนด้าอายุเกิน 12 เดือน ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตัวละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ถ้าหากมีการขนย้ายแพนด้ากลับประเทศจีน ฝ่ายไทยต้องจัดทำประกันภัยการขนย้าย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับแพนด้าแต่ละตัว รวมทั้งลูกแพนด้าที่มีอายุเกิน 12 เดือน ฝ่ายจีนเป็นผู้รับผลประโยชน์สำหรับการประกันภัย
เดือน ก.ย.2562 ช่วงช่วง ตายจากสภาวะหัวใจล้มเหลว ขณะอายุ 19 ปี ทำให้ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตามสัญญาให้โครงการอนุรักษ์แพนด้า โดยบริษัทประกันเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้
ปัจจุบัน หลินฮุ่ย อยู่ภายใต้การดูและขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ค่าใช้จ่ายหลักๆ คืออาหารพวกไผ่และผลไม้จากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตกปีละ 5 แสนบาท โดยทางสวนสัตว์ได้รับงบประมาณจากรัฐช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ร้อยละ 40-60 ทุกปี
รอความชัดเจนการต่อสัญญารอบสาม
ผอ.สวนสัตว์เชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ในปี 2564 คณะกรรมการจาก CWCA ต้องเดินทางมาตรวจสุขภาพหลินฮุ่ยและประเมินว่า สวนสัตว์เชียงใหม่เลี้ยงดูหลินฮุ่ยได้ตามมาตรฐานที่ CWCA กำหนดหรือไม่
เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจของทางการจีนว่า จะให้ไทยต่อสัญญาระยะสามหรือไม่ แต่จากมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดโควิด-19 ของประเทศจีน ทำให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังไม่สามารถเดินทางมาประเทศไทยได้
เบื้องต้น ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ได้ประสานงานไปยังสถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ และแจ้งให้ทราบว่า สัญญาระยะสองกำลังจะหมดลงในปีหน้า
หากเป็นไปได้ อยากให้คณะกรรมการของ CWCA เดินทางมาเยือนไทยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยล่าสุด ทางการจีนทราบความจำเป็นเร่งด่วนของเรื่องนี้แล้ว
ผอ.สวนสัตว์เชียงใหม่รับปากว่า ทางสวนสัตว์จะดูแลหลินฮุ่ยอย่างดีที่สุด จนกว่าทางการจีนและไทยจะหาข้อสรุปเกี่ยวกับการต่อสัญญาระยะที่สามได้
ไม่ว่าจะให้หลินฮุ่ยกลับจีนหรืออยู่ไทยต่อ หรือหาแพนด้ามาอยู่ไทยเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับการเจรจาของทั้งสองฝ่ายว่าจะได้ข้อตกลงกันอย่างไร
การทูตแพนด้าในเวทีการเมืองโลก
ถึงแม้ว่าความน่ารักของแพนด้าจะครองใจประชาชนได้ไม่ยาก แต่นโยบายนี้ก็ถูกท้าทายจากปัจจัยต่างๆ หลายครั้ง เช่น เมื่อสองปีที่แล้ว สวนสัตว์ในประเทศแคนาดาต้องส่งแพนด้าคู่หนึ่งกลับจีน จากปัญหาขาดแคลนไผ่ อาหารหลัก ในช่วงการระบาดของโควิด-19
และเคยมีการตั้งคำถามในสภาคองเกรส สหรัฐอเมริกา โดยผู้ทำนโยบายบางคนว่า ประชากรแพนด้าในจีน ได้รับประโยชน์จากนโยบายการทูตแพนด้านี้หรือไม่ และมีมาตรการใดที่ทางสหรัฐฯ สามารถทำได้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเงินค่าธรรมเนียมรายปีที่จ่ายไป ถูกนำไปใช้ในโครงการอนุรักษ์แพนด้าจริงๆ
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมาชิกสภาครองเกรส จากพรรครีพับลิกัน เคยเสนอร่างกฎหมายที่ระบุว่า ลูกแพนด้ายักษ์ที่เกิดในสหรัฐฯ ต้องไม่ถูกส่งกลับไปยังประเทศจีน ทั้งที่ปกติแล้วลูกแพนด้าเกิดใหม่ ต้องถูกส่งกลับไปยังประเทศจีน เมื่อพวกมันมีอายุได้ไม่กี่ปี และให้สหรัฐฯ ร่วมกับพันธมิตรจัดตั้งโครงการเพาะพันธุ์แพนด้ายักษ์ขึ้น
การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ของสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน เพื่อส่งข้อความว่า ไม่พอใจท่าทีที่แข็งกร้าวของจีน โดยในร่างกฎหมายดังกล่าวยังอ้างถึง การคุกคามของจีนต่อไต้หวัน การปราบปรามผู้เห็นต่างในฮ่องกง และการละเมิดสิทธิมนุยชนชาวอุยกูร์ ชนกลุ่มน้อยมุสลิมในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์
จากทั้งหมดนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายทูตแพนด้าส่งผลหลายๆ ด้านในการเมืองโลกตลอดระยะเวลา 81 ปีที่ผ่านมา
จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน