สุดสัปดาห์นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.จะออกข้อกำหนด กฎ กติกาว่าด้วยข้อต้องปฏิบัติและข้อห้ามต่าง ๆ สำหรับนักการเมืองและพรรคการเมืองในช่วงระยะเวลานับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง โดยเฉพาะช่วง 180 วัน ก่อนครบวาระส.ส. 4 ปี คือนับถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566
นับเป็นเรื่องสำคัญเพราะจะเป็นบรรทัดฐานสร้างความเป็นธรรม สำหรับว่าที่ผู้สมัคร ทีมงานผู้ช่วยหาเสียง และพรรคการเมืองต้นสังกัด ซึ่งต้องมีกรอบเวลาเป็นสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันสมัคร
ข้อกำหนดของกกต. จะเป็นเรื่องรายละเอียดลึกย่อยไปจากรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนความ และล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งรับคำร้องไว้วินิจฉัยทั้ง 2 ฉบับ
ข้อพึงปฏิบัติและข้อห้ามไม่ควรปฏิบัตินี้ จะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 มาตรา 68 ว่าด้วยการหาเสียง และมาตรา 73 ว่าด้วยข้อห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใด กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจหรืองดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร
ยังมีประเด็นว่าด้วยเรื่องการให้และสัญญาว่าจะให้ ทั้งเงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดด้วย ตัวอย่าง คือเรื่องแจกถุงยังชีพช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม หรือแจกจ่ายยาหรือเวชภัณฑ์ป้องกันโควิด 19 ที่ กกต.ระบุชัดแล้วว่า ทำไม่ได้
แต่บางอย่างที่คลุมเครือ หรือเป็นเรื่องว่าที่ผู้สมัครหรือส.ส.บางคน ได้ถือปฏิบัติมาทุกปี จะทำได้หรือไม่ และการจัดงานเลี้ยง หรือจัดกิจกรรม และการขึ้นป้ายผู้สมัครสนับสนุนงานบุญหรือเทศกาลต่าง ๆ ในพื้นที่ จะยังทำได้หรือไม่ และค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ต้องนำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายที่ กกต.จะกำหนดวงเงินสูงสุดเอาไว้ให้
รวมกระทั่งเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ และน่าจะถูกใช้เป็นประโยชน์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งเรื่องร้องเรียนไปยังผู้สมัครที่เป็นคู่แข่ง ในลักษณะเฟคนิวส์ หรือไอโอ การใช้ข้อมูลข่าวสารในลักษณะใส่ร้าย บิดเบือนให้ผู้อื่นเสียหาย หรือทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้าใจผิด
การเลือกตั้งครั้งใหม่ จึงไม่ใช่เพียงจะต่อสู้เรื่องตัวผู้สมัคร และนโยบายบางเรื่องบางพรรคโดนเตะสกัดจนเดินตุปัดตุเป๋ อาจถึงขั้นต้องกลืนเลือด รอวันเช็คบิลเอาคืนเท่านั้น ยังจะต่อสู้กันททางแทคติก คูเหลี่ยม ลูกล่อลูกชน และความโชกโชนทางการเมือง รวมถึงสภาพความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล
ประจักษ์ มะวงศ์สา รายงาน