วันนี้ (22 ก.ย.2565) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานค่าเงินบาทวันนี้ ว่า เปิดตลาดเงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 37.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปแตะระดับอ่อนที่สุดในรอบเกือบ 16 ปี ครั้งใหม่ที่ 37.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อช่วงเวลา 09.15 น. เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ 37.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เตรียมนัดหารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบกับการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของธนาคารแห่งประเทศไทยในการดูแล กระทรวงการคลังคงจะไปกำหนดมาตรการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มากไม่ได้
ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้กำชับกระทรวงการคลังให้หารือกับ ธปท. เร่งแก้ไขไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวมากกว่านี้ โดยระบุควรจะอยู่ที่ประมาณ 35 บาท แต่การจะลดไปอยู่ระดับนั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องง่าย ปัจจัยหลักต้องดูว่าการอ่อนค่าเกิดจากการอ่อนของเงินบาทเอง หรืออ่อนค่าจากปัจจัยภายนอก
ทั้งนี้ หากย้อนดูกราฟค่าเงินบาท อ้างอิงข้อมูลจาก Exchangerates.org.uk พบว่าในช่วง 120 วัน ไทยเคยเผชิญกับการอ่อนค่าของเงินมารอบหนึ่ง ในช่วงเดือน ก.ค. ครั้งนั้นอยู่ที่ระดับ 36.50 บาท แต่ปลายเดือน ส.ค.-ก.ย. สหรัฐฯ ค่าเงินบาทอ่อนค่า ใกล้ทะลุ 37 บาท กระทั่งทะลุ 37 บาท เมื่อวานนี้ (21 ก.ย.) เป็นวันแรก ก่อนที่จะมีการประชุมของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
หากย้อนดูค่าเงินบาทในรอบ 1 ปี จะพบว่าช่วงต้นปี ค่าเงินของไทยยังค่อนข้างแข็งในระดับ 32 บาท โดยเฉพาะช่วงเดือน ก.พ. ต่อเนื่อง มี.ค. แล้วจึงค่อยอ่อนลงไปเรื่อย ๆ
ก่อนหน้านี้ช่วงเดือน ก.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายว่า การอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เกิดจากความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี โดยแข็งค่าไปแล้ว 11.3% ขณะที่เงินสกุลต่าง ๆ อ่อนค่าทุบสถิติ
ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาท เมื่อเทียบกับสกุลอื่นในภูมิภาค จะอ่อนค่าลงราว 7.6% ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับสกุลอื่นในภูมิภาค
ส่วนการดูแล ธปท.ยังต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด การจะเข้าไปแทรกแซงเพื่อให้ได้ค่าเงินในระดับที่ต้องการเป็นเรื่องยาก เพราะไทยถูกสหรัฐฯ จับตาเรื่องการแทรกแซงค่าเงินด้วยเช่นกัน
"คลัง" ห่วงเงินบาทอ่อนค่าเร็ว กระทบราคาพลังงาน
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าอาจกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในภาวะตลาดผันผวนมากขึ้น พร้อมจับตาทิศทางนโยบายการเงินธนาคารกลางญี่ปุ่นและอังกฤษ ที่จะประกาศนโยบายการเงินเร็ว ๆ นี้
คาดปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอีกที่ระดับ 37.30- 37.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยอมรับว่า ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเร็ว อาจกระทบราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนผลิตสำคัญที่ต้องนำเข้า และกระทบเงินเฟ้อ จึงเตรียมหารือกับ ธปท. เพราะค่าเงินบาทที่อ่อนลงเร็ว อาจเป็นผลจากปัจจัยภายในประเทศด้วย รัฐบาลจึงอาจใช้เครื่องมือที่มีอยู่ดูแลปัญหาได้อย่างจำกัด และออกมาตรการบรรเทาผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น
ส่วนปัญหาส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นนั้น ธปท.รายงานว่า ไม่กระทบเงินทุนไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไทยต้องติดตามรับมือผลกระทบด้านราคาพลังงาน และความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ขณะที่ ธปท.อยู่ในภาวะงดแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงิน ในช่วงก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ ไซเรนท์ พรีเรียด ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 ก.ย.นี้