จุดผ่อนปรนการค้าชายแดนไทย-ลาวบ้านหมอ หรือท่าเรือบ้านหม้อ อยู่ตรงข้ามกับด่านประเพณีหนองดา เมืองสีโคดตะบอง นครหลวงเวียงจันทร์ ประเทศลาว ซึ่งจุดนี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขนส่งสินค้า และการสัญจรระหว่าง 2 ประเทศ
ระยะทางที่ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร เดินทางโดยเรือข้ามฟากใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ต่างจากการเดินทางทางบก ผ่านด่านพรมแดนมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 ต้องเพิ่มระยะเวลาการเดินทางมากถึง 50 กิโลเมตร จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านและผู้ประกอบการอยากให้เปิดด่านประเพณีจุดนี้
ปัจจุบัน ท่าเรือบ้านหม้อยังปิดให้บริการ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปี 2563 ทำให้จุดทำการบริเวณดังกล่าวมีเพียงเจ้าหน้าที่ที่เข้าเวรมาคอยดูแลความเรียบร้อยเท่านั้น ขณะที่ร้านอาหารของชาวบ้านที่เคยเปิดขายก็ต้องปิดตัวและทิ้งร้าง
ว่าที่ ร.ต.นครชัย แสงมณี นายอำเภอศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ให้ข้อมูลว่า จุดผ่อนปรนการค้าไทย-ลาวบ้านหม้อ ส่วนใหญ่จะเป็นจุดสำหรับการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะผลไม้ ซึ่งก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกไม่น้อยกว่าเดือนละ 50 ล้านบาท มีการจ้างงานในพื้นที่อย่างน้อยๆ 50-60 คน และเศรษฐกิจในอำเภอหมุนเวียนได้ดี เนื่องจากมีการเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยจากทั้งชาวไทยและชาวลาว
การปิดจุดผ่อนปรนบ้านหม้อ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก แม้ว่าปัจจุบันจะเปิดให้ส่งออกสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวได้ แต่ด้วยระยะทางห่างกันกว่า 50 กิโลเมตร จึงไม่คุ้มทุน ขณะที่หลายคนต้องหยุดกิจการส่งออกชั่วคราว และหันมาปลูกพืชที่จำหน่ายในท้องถิ่นแทน
ฤดี พวงจำปา เจ้าของสวนส้มเจ้าจอมขวัญ ได้ปรับเปลี่ยนสวนส้มที่เคยส่งออกไปขายประเทศเพื่อนบ้าน มาเป็นการปลูกกล้วย เงาะและฝรั่ง โดยเธอสะท้อนว่า ส่วนหนึ่งเป็นไปตามกลไกการตลาดและความคุ้มค่าในการลงทุน โดยเฉพาะค่าขนส่ง
ทีมข่าวไทยพีบีเอส สำรวจตลาดประชารัฐใน อ.ศรีเชียงใหม่ ผู้หลายคนสะท้อนว่า อยากให้เปิดจุดผ่อนปรนโดยเร็ว เพราะจะได้มีการไปมาหาสู่กันเช่นเดิม ซึ่งปกติจะมีชาวลาวเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าจากท้องถิ่น พร้อมยอมรับว่ารายได้ส่วนหนึ่งหายไป
สำหรับ จ.หนองคาย มีจุดผ่อนปรนการค้าชายแดน 4 จุด คือ จุดผ่อนปรนบ้านม่วง อ.สังคม, จุดผ่อนปรนบ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่, จุดผ่อนปรนบ้านเปงจาน อ.รัตนวาปี และจุดผ่อนปรนบ้านจุมพล อ.โพนพิสัย รวมถึงด่านท่าเทียบเรือหายโศก อ.เมืองหนองคาย ซึ่งปัจจุบันมีเพียงจุดผ่อนปรนบ้านเปงจาน ตรงข้ามกับแขวงบอลิคำไซเท่านั้นที่เปิดได้
ส่วนบรรยากาศที่ด่านท่าเรือหายโศก เขตเทศบาลหนองคาย ถือเป็นด่านท่าเรือที่สำคัญ เพราะมีการค้าขายในระดับท้องถิ่น มูลค่าสูงกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ด่านแห่งนี้ปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2563 จากสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน จึงทำให้สภาพอาคารตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรเริ่มทรุดโทรม
การปิดท่าเรือหายโศก ซึ่งอยู่ตรงข้ามด่านท่าเดื่อ นครหลวงเวียงจันทน์ ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลากหลายอาชีพ ทั้งผู้ที่รับจ้างลำเลียงขนส่งสินค้าทางเรือ หรือที่เรียกว่า “จับกัง” คนขับสามล้อรับจ้าง และพ่อค้าแม่ค้าที่ปกติจะมาขายสินค้าบริเวณนี้กันอย่างคึกคัก
อ่านข่าวอื่นๆ
เตรียมสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ไทย-ลาว-จีน รองรับขนส่งทางราง
เปิดใช้เกือบ 1 ปี "รถไฟจีน-ลาว" เชื่อมโอกาสทางเศรษฐกิจ
คึกคัก! ท่องเที่ยว "ไทย-ลาว" เพิ่มโบกี้-เที่ยวรถไฟรับผู้โดยสาร