วันนี้ (16 ก.ย.2565) รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อดีต ผอ.ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ วิเคราะห์ในรายการ Newsroom Daily รายการออนไลน์ทางไทยพีบีเอส ถึงการเยือนประเทศอุซเบกิสถาน ของ สี จิ้นผิง ผู้นำจีน และ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในการเข้าร่วมประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO ครั้งที่ 22 ว่าเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ของจีนกับรัสเซียที่มีมาก่อนหน้านี้ ว่ามีความแนบแน่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
รวมทั้งเป็นการแสดงออกให้ชาวโลกและสหรัฐฯ เห็นว่า 2 ประเทศนี้ผนึกกำลังกันจริง ๆ และไม่ว่าบทบาทของสหรัฐฯ หรือ อียู จะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถทำลายความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศนี้ได้ ซึ่งทั้งคู่พร้อมเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ถ้าจะเพิ่มบทบาททางทหารมากไปกว่านี้
อ่านเพิ่มเติม : พบกันแล้ว! "ปูติน - สี จิ้นผิง" ยอมรับกังวลกับสถานการณ์ยูเครน
รศ.วรศักดิ์ กล่าวว่า จีนวางบทบาทได้อย่างเหมาะสม จีนไม่ได้คว่ำบาตรรัสเซีย และไม่ได้ประกาศว่าการทำสงครามกับยูเครนเป็นทางออกที่ดีที่สุด หรือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะจีนก็มีความสัมพันธ์กับยูเครน
จีนพยายามเป็นกลางมาโดยตลอด
ท่าทีของจีน แสดงชัดว่าไม่เข้าไปช่วยรัสเซียทำสงครามกับยูเครน ถ้าเข้าไปช่วย สงครามจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งท่าทีนี้เป็นการประกาศต่อสหรัฐฯ อียู และนาโต้ ว่าถ้าส่งกำลังทหารเข้ามาในยูเครน จะทำให้สงครามขยายออกไป หากถึงตอนนั้น จีนอาจพิจารณาใหม่ว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับสงครามนั้นอย่างไรบ้าง
ถ้าสงครามขยายตัว จะเท่ากับสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้น
รศ.วรศักดิ์ ระบุว่า รัสเซียพยายามยื้อสงครามยูเครนให้ยาวนานไปจนถึงฤดูหนาว เพราะเมื่อถึงเวลานั้นหากชาติตะวันตกยังมีปัญหาเรื่องพลังงาน ต้องกลับมาดูว่า การทิ้งรัสเซียให้โดดเดี่ยวมาตลอด มีความหมายต่อตะวันตกอย่างไร
ประชาชนชาวยุโรปอาจลุกขึ้นมาต่อต้านรัสเซีย หรือกดดันรัฐบาลกับนโยบายคว่ำบาตรรัสเซีย อาจให้พิจารณาใหม่