ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : “โขง-ชี-มูล” มหากาพย์ 30 ปี วันนี้ยังไม่มีทางออก

สิ่งแวดล้อม
15 ก.ย. 65
14:55
1,626
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : “โขง-ชี-มูล” มหากาพย์ 30 ปี วันนี้ยังไม่มีทางออก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โจทย์เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาคอีสานเป็นมหากาพย์ยาวนาน ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 30 ปี ซึ่งเรื่องนี้ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน มองว่า เป็นผลจากการบริหารจัดการทรัพยากรโดยภาครัฐ ที่ยังขาดความเข้าใจบริบทของชุมชนอีสาน

เวทีถอดบทเรียน 30 ปี ความล้มเหลวของโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง ชี มูล เป็นโอกาสสำคัญให้เครือข่ายชาวบ้านในลุ่มน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคอีสานและลุ่มน้ำโขงในภาคเหนือ ซึ่งเป็นเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นักพัฒนา นักวิชาการ และผู้ที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถกเถียง และวิพากษ์กระบวนการนโยบายและการขับเคลื่อนโครงการในแง่มุมต่างๆ เพื่อผลักดันข้อเสนอให้เกิดในระดับนโยบาย

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ระบุว่า “โขง ชี มูล” เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยเมื่อราว 30 ปีก่อน ที่พยายามนำเสนอภาพฝันของการขจัดปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสานแบบถาวร โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที่สำคัญอย่างลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูล

แต่เวลาที่ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน โครงการนี้กลับยังคงถูกผู้คนจากหลายแวดวงกล่าวถึง วิพากษ์วิจารณ์ และถูกใช้เป็นภาพแทนของโครงการพัฒนาที่ล้มเหลวเพื่ออธิบายถึงจุดจบในทำนองเดียวกันของโครงการจัดการน้ำที่เกิดขึ้นในยุคหลัง คำถามสำคัญ คือ ทำไมสิ่งเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

 

ประดิษฐ์ โกสน ชาวบ้านลุ่มน้ำมูล เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา เล่าว่า ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล เขื่อนยังบริหารจัดการไม่ได้ การสร้างเขื่อนแก้ภัยแล้ง และป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ ทุกวันนี้ชาวบ้านยังต้องซื้อน้ำใช้ เสียไร่ละ 200 บาท เห็นชัดเจนว่ามันเป็นการจัดการที่ล้มเหลว ทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน พี่น้องต้องแย่งน้ำ แย่งทรัพยากรกันเอง

นิมิต ตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำชี ตอนล่าง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธ-พนมไพร กล่าวว่า เมื่อมีการสร้างเขื่อนที่ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ชาวบ้านเดือดร้อนมาก พี่น้องที่มาเรียกร้องก็เหนื่อยมาก บางคนก็ท้อถอย ถึงวันนี้เราเรียกร้องมาหลายปี หลายรัฐบาล เวลากว่า 14 ปีที่ผ่านมา เราเรียกร้องให้เร่งเยียวยาไร่ละ 7,000 บาท ซึ่งตอนนี้มองเห็นแนวทางว่า ต้องแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบเขื่อนและเร่งเยียวยาชาวบ้าน

นอกจากปัญหาการจัดการน้ำในลุ่มน้ำอีสาน “แม่น้ำโขง” ก็ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนไม่น้อย

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว จากกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย บอกว่า เรื่องราวนี้เป็นมหากาพย์มานาน ทั้งสถานการณ์แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ถ้าเป็นคนป่วยก็คงลุกไม่ได้แล้ว เรื่องราวพวกนี้ต้องได้รับการแก้ไขในการดูแลแม่น้ำของเรา เรื่องนี้ยึดหลักคิดเดิม ๆ ถ้ามองธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง มันจะไม่มีผลกระทบขนาดนี้

 

ผมอยากพูดถึงเรื่องราวของแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงของเราไม่ต้องอธิบาย เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของปลา และแม่น้ำโขงในมุมมองของผม มันถูกกระทำจากฝีมือมนุษย์

เขื่อนตัวแรกมานวาน พอสร้างเสร็จก็สร้างความหายนะ เขื่อนตัวที่สองมา น้ำโขงก็ขึ้นลงผันผวน และเมื่อมีเขื่อนตัวที่สามจินหง ที่บอกว่าเขื่อนจะช่วยให้น้ำไม่ท่วมแต่พอเขื่อนปล่อยน้ำกลับมาท่วมเชียงของ จ.เชียงราย

พอเขื่อนตัวที่สี่ สร้างเสร็จเมื่อปี 2553 เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แม่น้ำโขงไม่เคยแห้งกลับแห้ง เมื่อน้ำโขงขึ้นลงผันผวน ตลิ่งพัง พื้นที่เกษตรเสียหาย อาชีพคนหาปลาก็ทำไม่ได้ ปัจจุบันตะกอนในแม่น้ำโขงหายไป นั่นคือวิกฤต

ด้าน อาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่ติดตามเรื่องน้ำมูลมายาวนานกว่า 30 ปี กล่าวว่า เป็นเรื่องอำนาจของคนที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนา โครงการ โขง ชี มูล เป็นเรื่องของน้ำมูล น้ำชี น้ำที่เอามาจากน้ำโขง ใกล้ที่ไหนก็เอามาเก็บไว้ และโครงการศรีสองรักษ์เป็นเส้นใหม่ เอาน้ำโขงเข้ามาในแม่น้ำเลย ทั้งหมดคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนอีสาน

 

ปัญหาคือว่า ยิ่งเงินเยอะ ยิ่งผลกระทบเยอะ ปัญหาที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุด คือ ผันน้ำเข้ามาในช่วงฤดูฝน เพื่อจะใช้ในฤดูแล้ง นี่คือสิ่งที่มันผิดพลาดล้มเหลว เชื่อมโยงในเรื่องการจัดการน้ำ ผมมองว่า เป็นการรวมศูนย์มากขึ้น

อาจารย์นิรันดร คำนุ หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในคณะทำงานเรียกร้องเงินชดเชยแม่น้ำชีตอนกลางและล่าง กล่าวว่า

30 ปี น้ำชี เจอปัญหามา 14 ปี ที่น่าสนใจเกี่ยวกับที่มาโครงการโขงชีมูล เกิดขึ้นภายใต้การมองภาพอีสานว่า แห้งแล้ง กระบวนการศึกษาตอนนั้นยังไม่มี เมื่อมีเขื่อนทยอยเกิดขึ้น ผลกระทบก็เริ่มเกิดขึ้นกับชาวบ้าน ชีพจรและการไหลของน้ำเปลี่ยนไป น้ำเข้าท่วมพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม โดยรัฐนิยามว่า เป็นป่าละเมาะ แต่ข้อเท็จจริงน้ำคือวิถีชีวิต ความเชื่อ

น้ำไม่ใช่ทรัพยากรที่ต้องไปจัดการ แต่น้ำมีมิติหลายอย่าง ทั้งทางวัฒนธรรม เกษตรริมมูล ริมชี พอมองข้ามเรื่องพวกนี้ไปทำให้เกิดปัญหา สิ่งหนึ่งที่สำคัญภายหลังการเกิดปัญหาประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน คนที่จะมาช่วยไม่มี ขาวบ้านจึงเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหา สิทธิที่เขาควรมีในการจัดการทรัพยากรถูกรบกวน อันนี้คือสิ่งที่คนในสังคมต้องทำความเข้าใจ

คนในภาคอีสานล้วนเกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำ 30 ปีที่ผ่านมา ที่ชาวบ้านเรียกร้องลำพังถูกปล่อยปะละเลย และต่อไปจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

ความเป็นธรรมที่ใช้เวลากว่า 30 ปี ในการชดเชย เรื่องนี้เกิดอะไรขึ้น ?

ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าว โครงการขนาดใหญ่ในมุมมองของรัฐ คือการแก้ปัญหา ต้องโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เท่านั้น ขณะเดียวกันสิ่งที่เรียกว่าใหญ่ ขอใช้คำว่า กลับตาลปัตร แปลว่า มันตรงกันข้าม มีข้อพิสูจน์แล้วว่า สร้างผลกระทบมากกว่าประโยชน์

ความยุติธรรมเดินทางมาช้าเหลือเกิน ถ้าเปรียบเทียบกับผลกระทบที่เกิดกับประชาชน ผลกระทบมันข้ามรุ่นมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย มาจนรุ่นลูกหลาน ถ้าเราสามารถเข้าถึงทรัพยากรป่าบุ่งป่าทามได้เหมือนเดิม

อย่าบอกว่าชาวบ้านต้องอยู่อย่างพอเพียง ทุกคนอยากมี อยากได้ การชดเชยเยียวยาก็จะต้องข้ามรุ่นเช่นกัน ซึ่งการมีเขื่อนขนาดใหญ่มันตัดขาดความสำคัญ ความผูกพันของคนกับแม่น้ำมูล ป่าบุ่งป่าทาม ปลา ความสำคัญและความผูกพันมันเป็นแก่นของชีวิตที่ก่อให้เกิดรายได้ เกิดวิถีวัฒนธรรม เขื่อนทำให้สิ่งเหล่านี้หายไป

การพัฒนาที่ผ่านมา 30 ปี มันคือความรุนแรงต่อแม่น้ำ ต่อวิถีชีวิต แต่รัฐไม่ได้แบกรับต้นทุน ชาวบ้านต่างหากที่แบกรับ ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรม ได้เห็นความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม ที่มีการปรับเปลี่ยนการต่อสู้ เมื่อก่อนไปทำเนียบฯ แต่ตอนนี้ชาวบ้านรวมตัวกันทำงานวิจัยไทบ้าน ใช้เครื่องมือความรู้ในการต่อสู้ ซึ่งโครงการขนาดใหญ่มันไม่ใช่สูตรสำเร็จในการจัดการอีกต่อไป

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการโขงชีมูลเป็นโครงการที่ลอกแบบมาจากโครงการลุ่มน้ำเมอเลย-ดาร์ลิงค์ ของออสเตรเลีย ซึ่งโครงการโขง ชี มูล ไม่ได้เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านจริง ๆ ซึ่งควรจะมีการพูดคุย และระบุให้ชัดเจนว่า ใครคือผู้ได้ประโยชน์จากโครงการนั้น ๆ

 

ทางด้าน แม่ผา กองธรรม นายกสมาคมคนทาม กล่าวว่า ปัญหาของราษีไศล การสู้ของราษีไศล เรามีการพัฒนาของการสู้ไม่ใช่แค่เรื่องเขื่อนอย่างเดียว เราสู้กับปากท้อง ถ้าจะสร้างใหม่ก็แก้ไขตัวเก่าก่อน หรือถ้าจะทำใหม่ให้ชดเชยอันเดิมก่อน และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง”

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว จากกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวด้วยว่า ปัญหาแม่น้ำโขงเป็นปัญหาใหญ่ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลา เราต้องคิดแบบใหม่ มิติใหม่ ๆ ในการจัดการน้ำ พวกเราคนลุ่มน้ำโขง สิ่งหนี่งที่เราต้องร่วมกันคือ รณรงค์เรียงร้อยกัน เพื่อจะบอกว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จะต้องชูประเด็นให้ไปถึงระดับนโยบาย อันนี้คือข้อแรก

ข้อสองคือตัวกฎหมาย แม่น้ำโขงก็ใหญ่ แม่น้ำสาขาก็ใหญ่ แต่หลายเรื่องไปไม่ถึงระดับกฎหมาย เงินข้ามพรมแดนแต่กฎหมายยังไม่ไปไหน อย่างกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่ฟ้องเรื่องการซื้อขายไป แต่กฎหมายตัดสินว่า การซื้อขายไม่ได้ผิด แต่ผิดที่เขื่อน เราต้องช่วยกันแก้ไขตรงนี้ให้ได้

สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องทำและไม่ทำไม่ได้คือ สร้างสำนึกร่วม โดยการสร้าง “สภาประชาชนลุ่มน้ำโขงประเทศไทย” เราคือหุ้นส่วนใหญ่ของแม่น้ำโขง แต่เราไม่มีที่ยืนเราจะต้องช่วยกันก่อเกิดเรื่องนี้และเดินไปด้วยกันให้ได้ เพื่อที่จะช่วยกันพูดแทนแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำสาขาทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง