ไม่กี่ชั่วโมง ก่อนการประกาศข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย กล่าวเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2022 ด้วยท่าทีแข็งขัน เปลี่ยนชื่อถนนจาก “ราชบาท” หรือ “Kingsway” เป็น “Kartavya Path” ลบสัญลักษณ์ความเป็นทาสในสมัยอานานิคมอังกฤษ
สัญลักษณ์ของความเป็นทาส “ราชบาท” หรือ Kingsway จะกลายเป็นประวัติศาสตร์นับจากวันนี้และจะถูกล้างตลอดกาล วันนี้จะเป็นที่รู้จักในชื่อ Kartavya Path (เส้นทางแห่งหน้าที่) และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์หน้าใหม่
แต่หลังการประกาศการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โมดีทวิตแสดงความเสียใจ เขาระบุว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีความเข้มแข็ง และเป็นแบบอย่างของผู้นำ
ผู้คนในอินเดีย มองการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในมุมที่แตกต่างกันไป บ้างมองว่าเรื่องราวราชวงศ์อังกฤษไกลตัว บ้างมองย้อนกลับไปถึงประวัติศาสตร์อันเจ็บปวด ในฐานะประเทศเมืองขึ้น
ขณะที่บนโลกออนไลน์อินเดีย เกิดกระแสแฮชแทกทวงคืน “เพชรโคอินัวร์” หรือ ภูเขาแห่งแสง ที่ประดับอยู่บนมงกุฎสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
“โคอินัวร์” เป็นเพชรที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความขัดแย้งตลอดช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา ผลัดเปลี่ยนผู้ครอบครองไปหลายมือ ตั้งแต่จักรพรรดิโมกุล จักรพรรดิเปอร์เซีย จักรวรรดิอัฟกานิสถาน จักรพรรดิอินเดีย และจักรวรรดิซิกข์
BBC ระบุว่า เพชรขนาด 105 กะรัต ตกเป็นของจักรวรรดิอังกฤษ ราวกลางศตวรรษที่ 19 และทุกวันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งราชวงศ์อังกฤษ
ทั่วโลกได้เห็นเพชรเม็ดนี้ประดับบนมงกุฎสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ในงานพระราชพิธีขึ้นครองราชของพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งมงกุฎยังได้ถูกวางไว้เหนือหีบพระศพของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี

ทั้งนี้ คาดว่าในพิธีบรมราชาพิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีชาลส์ที่ 3 จะได้เห็นสมเด็จพระราชินีคามิลลา ทรงสวมมงกุฎของพระราชินีที่ประดับด้วยเพชรโคอินัวร์
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดกระแสทวงคืนเพชร ที่คนอินเดียจำนวนมากเชื่อว่าอังกฤษขโมยไปตั้งแต่ยุคอาณานิคม ขณะที่ราชวงศ์อังกฤษอ้างว่า ได้รับ “เพชรโคอินัวร์” ในฐานะของขวัญ
ไม่เฉพาะอินเดีย แต่ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และอิหร่าน ต่างอ้างว่าถูกปล้นเพชรโคอินัวร์ไป และอังกฤษควรจะส่งคืนแก่พวกเขา นอกจากนี้ในอินเดียยังเกิดกระแสทวงคืนทรัพย์สมบัติหลายชิ้น ที่ถูกระบุว่าหายไปในช่วงยุคอาณานิคม
อาชนา โอจาห์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ม.เดลี อินเดีย ระบุว่า จะน่าสนใจมากกว่า ถ้าพวกเขาเก็บเพชรโคอินัวร์ไว้ และคืนทรัพย์สมบัติล้ำค่าที่เหลือในบริติชมิวเซียม พวกเขามีภาพวาดทรงค่า มีเทวรูปของเรา เทวรูปมูลค่ามหาศาลที่เก็บไว้ มีเอกสารต้นฉบับต่างๆ ที่มีคุณค่าอย่างมากต่อคนอินเดีย ที่เราต้องไปดูทุกครั้งเมื่อทำวิจัย เราต้องไปอังกฤษเพื่อเข้าถึงเอกสารเหล่านี้
ฉันอยากเห็นวัตถุโบราณเหล่านี้ กลับคืนสู่อินเดีย พวกเขาสามารถเก็บโคอินัวร์ไว้ แต่ให้คืนวัฒนธรรมของเรามา

นอกจากกระแสจากอินเดีย ยังมีกระแสทวงคืน “เพชรคัลลินัน” จากแอฟริกา ซึ่งเพชรดิบคัลลินันถูกขุดพบที่แอฟริกาใต้มากกว่า 100 ปีที่แล้ว เป็นเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดที่พบในประวัติศาสตร์
อานานิคมทรานส์วาล ต้องการปรองดองกับอังกฤษ จึงได้ทูลเกล้าถวายแด่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ภายหลังถูกแบ่งออกเป็น 9 เม็ด ประดับอยู่บนคฑาประจำพระองค์ บนฐานของมงกุฏอิมพีเรียลสเตท ที่สวมหลังพิธีบรมราชาพิเษก และพิธีเปิดสมัยประชุมสภา
มงกุฎแต่ละชิ้นของราชวงศ์อังกฤษ มีน้ำหนักตั้งแต่ 1-2 กิโลกรัม สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เคยตรัสไว้ว่า เมื่อใส่แล้วไม่สามารถก้มพระพักตร์ เพราะพระศออาจหักได้
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศ มองว่า หลังการเปลี่ยนแผ่นดินอาจได้เห็นหลายประเทศในเครือจักรภพ เปลี่ยนรูปแบบการมีประมุขร่วม ไปสู่สาธารณรัฐมากขึ้น
อ่านข่าวอื่นๆ
ประมวลภาพ พระราชพิธีเคลื่อนหีบพระบรมศพ "ควีนเอลิซาเบธที่ 2" ไปวังบักกิงแฮม
จับตาโดมิโน "สาธารณรัฐ" ในแคริบเบียน หลังอังกฤษผลัดแผ่นดิน