ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : ร่างแก้ รธน.ตัดอำนาจส.ว.ยังเป็น “ความฝัน”

การเมือง
8 ก.ย. 65
19:54
166
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ร่างแก้ รธน.ตัดอำนาจส.ว.ยังเป็น “ความฝัน”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 4 ร่าง รวมทั้งร่างแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และประชาชน 64,151 คนเข้าชื่อเสนอ ไม่ผ่านวาระรับหลักการในที่ประชุมร่วมรัฐสภา

โดยร่างปิดสวิตช์ ส.ว.ฉบับนี้ มีส.ส.เห็นชอบ 333 คะแนน ขณะที่ส.ว. เห็นชอบเพียง 23 คะแนน จากที่ต้องใช้ 84 คะแนนในกรณีผ่านวาระที่ 1 และวาระที่ 3 (2 สภารวมกันเห็นชอบต้องไม่ต่ำกว่า 364 คะแนน) ขณะที่ส.ส.โหวตไม่เห็นด้วย 102 คะแนน ส.ว. 151 คะแนน ส.ส.งดออกเสียง 8 คะแนน และส.ว. 45 คะแนน

ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2565 ฉบับประชาชน ยังไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเลย แม้ครั้งนี้ ในร่างจะเสนอแก้ไขเพียงประเด็นเดียว คือตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ปรากฏด้วยว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลัง และ ส.ส.พรรคเล็ก ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 4 ร่าง ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่น อย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคฝ่ายค้านทุกพรรค ลงมติรับหลักการทั้ง 4 ร่าง แต่ก็ไม่อาจช่วยอะไรได้

ส.ว.ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่เป็นตำรวจและทหาร ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 4 ร่าง มีเพียง ส.ว.บางส่วนเท่านั้น ที่ลงมติรับหลักการเรื่องตัดอำนาจ ส.ว. อาทิ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ นายคำนูณ สิทธิสมาน

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายพิศาล มาณวพัฒน์ นายมณเฑียร บุญตัน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และนายวันชัย สอนศิริ

นายวันชัย ให้เหตุผลที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่ผ่านสาระรับหลักการของรัฐสภา เนื่องจากไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะถึงแม้หากผ่านวาระที่ ก็ต้องมีกระบวนการต่อเนื่อง

ตั้งแต่ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแปรญัตติปรับแก้ ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในวาระที่ 2 และ 3 ทั้งยังมีขั้นตอนอื่น ๆ อีก กว่าจะออกเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ จะใช้เวลานานกว่าจะเสร็จสิ้นเรียบร้อย ภายในการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมนี้

จึงทำให้การอภิปรายในช่วง 2 วันของการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา ค่อนข้างจะเงียบเหงา แม้ความจริงเชื่อว่ามีส.ว.จำนวนไม่น้อย เห็นด้วยกับการปิดสวิตช์ ส.ว.ในมาตรา 272

ขณะที่ส.ว.หลายคน รวมทั้งนายสมชาย แสวงการ ส.ว. นอกจากอภิปรายในทำนองต้องเคารพประชามติที่ประชาชน 15 ล้านเสียง ลงมติเห็นชอบผ่านรัฐธรรมนูญปี 60 ให้อำนาจส.ว.สามารถร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.

ดังนั้น ส.ว.จึงต้องทำหน้าที่ดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะครบ 5 ปี ตามบทเฉพาะกาล ในระยะเปลี่ยนผ่านแล้ว

การอภิปรายตลอด 2 วัน ส.ว.ยังโดน ส.ส.พูดกระแนะกระแหน และใช้ถ้อยคำเสียดสีตลอด ทั้งที่ต้องการขอให้ ส.ว.ช่วยลงมติให้ร่างแก้ไขกฎหมายผ่านรัฐสภา จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ท้ายที่สุด ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. กระทั่งร่างดังกล่าวต้องตกไป

เท่ากับอำนาจ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 60 ยังมีอยู่ครบถ้วนตามเดิม และความพยายามจะลดอำนาจ ส.ว.ของฝ่ายค้านและภาคประชาชน ยังคงเป็นความฝันที่ยังไปไม่ถึงต่อไป

 

ประจักษ์ มะวงศ์สา รายงาน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง