ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทยอยคืน “ปลาเรืองแสงจีเอ็มโอ” หลังกรมประมง ขีดเส้น 3 เดือน

สิ่งแวดล้อม
6 ก.ย. 65
16:30
9,455
Logo Thai PBS
ทยอยคืน “ปลาเรืองแสงจีเอ็มโอ” หลังกรมประมง ขีดเส้น 3 เดือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทยอยคืน ปลาม้าลาย และปลาเสือเยอรมัน “ปลาเรืองแสงจีเอ็มโอ” หลังกรมประมง ขีดเส้น 3 เดือนเริ่ม 1 ก.ย.-30 พ.ย.นี้ ห้ามเลี้ยง ห้ามขาย ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำคุก ไม่เกิน 1 - 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 - 2 ล้านบาท

ปลาเสือเยอรมัน และปลาม้าลาย ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) จากสารเรืองแสงในแมงกะพรุน เพื่อทำให้ปลามีสีสันสวยงาม ดึงดูดผู้เลี้ยงปลาสวยงาม โดยพบมีทั้ง สีแดง ชมพู ฟ้า เขียว ม่วงอ่อน ถูกรวบรวมไว้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ (บางขันธ์) จ.ปทุมธานี

โดยปลาทั้ง 2 ชนิดอยู่ในบัญชีชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นประเภทที่ 10 ปลาที่ดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม ซึ่งกรมประมงเพิ่งประกาศให้ผู้ที่ครอบครองต้องนำมาคืนให้กับกรมประมงตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. - 30 พ.ย.นี้ ห่วงหากหลุดรอดไปในธรรมชาติจะการปนเปื้อนกับปลาพื้นเมือง 

 

นางอรุณี รอดลอย ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำและพรรณไม้น้ำสวยงาม กรมประมง กล่าวว่า หลังจากมีการนำเข้าปลาเสือเยอรมันเรืองแสง และปลาม้าลาย และปลากัดสีเขียวจีเอ็มโอ ที่เริ่มพบการเพาะเลี้ยงในไทยมากขึ้น กรมประมงเป็นห่วงเรื่องผลกระทบ เนื่องจากสัตว์จีเอ็มโอสามารถถ่ายทอดยีนไปยังรุ่นลูกได้ หากปล่อยให้มีการเพาะเลี้ยงในอนาคตอาจจะกระทบต่อระบบนิเวศ

โดยเฉพาะที่น่ากังวลคือ ปลากัด ถูกนำมาดัดแปลงพันธุกรรม กลายเป็น ปลากัดเรืองแสงสีเขียว เริ่มนำพ่อแม่พันธุ์เข้ามา ห่วงการปนเปื้อนทางพันธุกรรม เพราะไทยมีปลากัดสวยงามที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปลากัดพื้นบ้าน พื้นเมือง เช่น ปลากัดป่า มหาชัย ปลากัดกระบี่ ปลากัดลูกทุ่งภาคอีสาน ปลากัดลูกทุ่งภาคใต้ เป็นต้น และเกิดการผสมข้ามพันธุ์ และปนเปื้อนทางพันธุกรรม อาจจะมีผลกระทบในระยะยาว

หากมีการผสมข้ามพันธุ์ ของปลากัดเรืองแสงจีเอ็มโอ กับปลากัดพันธุ์พื้นเมืองอาจทำสายพันธุ์ดังเดิม และอาจทำให้ถูกกีดกั้นทางการค้าปลาสวยงามของโลก หากมีการแจ้งเตือนไปยังประเทศคู่ค้า 

 

นางอรุณี กล่าวว่า หลังจากประกาศให้ผู้ที่ครอบครองปลาเรืองแสงจีเอ็มโอส่งคืนกรมประมง พบในช่วงเกือบ 1 สัปดาห์ มีผู้ทยอยนำมาส่งคืนแล้ว บางคนไม่ได้แจ้งนำมาวางไว้เฉย ๆ แอบวางไว้ตรงหน่วยงานของกรมประมง จึงอยากฝากว่า ไม่อยากให้กลัวเพราะยังอยู่ในช่วงที่ประกาศให้นำมาคืน มาส่งมอบให้กรมประมง บางคนกลัวจะมีความผิดซึ่งมีโทษค่อนข้างสูงทั้งจำทั้งปรับ 

 

นางอรุณี กล่าวว่า หากใครมีปลาเรืองแสงจีเอ็มโออย่าไปปล่อยลงแหล่งน้ำ ซึ่งจะมีผลเสียผลกระทบมากกว่า หรือหากใครมีแค่ 1 - 2 ตัวในช่วง 3 เดือนนี้อยากเลี้ยงดูเล่นอยู่ยังทำได้ หลังจาก 3 เดือนแล้วจะทำลายก็ได้

หากเลี้ยงไว้และไม่ใช่เพื่อการค้า ไม่อยากจะมีปัญหาในเรื่องกฎหมาย ก็นำมาคืนที่กรมประมงใน 77 จังหวัด นำมาคืนแล้วแจ้งชื่อไว้เป็นหลักฐานก็ได้ว่าเรานำมาคืนแล้ว ไม่มีความผิด หรือไม่อยากแจ้งชื่อไม่ประสงค์ออกนามก็ได้ สามารถนำมาคืนได้เลยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นไปจนถึง 30 พ.ย.นี้

แอบคืนปลาเสือเยอรมัน-ปลาม้าลายเรืองแสง

ขณะที่ไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ (บางขันธ์) จ.ปทุมธานี

น.ส.กฤษณา เตบสัน นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า ช่วงวันที่ 1 -6 ก.ย. ที่ผ่านมา มีเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลาจีเอ็มโอ แอบนำปลาจีเอ็มโอมาคืนแล้วกว่า 800 ตัว ส่วนใหญ่เป็นปลาเสือเยอรมัน 535 ตัว ถูกนำมาวางไว้ที่ศูนย์ฯ แต่ไม่เจอตัว และปลาม้าลายอีก 300 ตัว ซึ่งบางส่วนได้รวบรวมส่งต่อไปไว้เพื่อเตรียมไปทำลาย

 

ปลาเรืองแสงจีเอ็มโอทั้ง 2 ชนิดถือเป็นปลาที่ผิดกฎหมาย มีการตัดแต่งยีนแมงกะพรุนมาทำให้มีสีสันสวยงาม จึงฝากให้เกษตรที่เพาะเลี้ยงนำมาคืน ห้ามเพาะเลี้ยงและนำไปจำหน่ายเด็ดขาด ทั้งนี้ปลาเรืองแสงจีเอ็มโอข้อดีคือสีสันจะเสมอกลมกลืนทั้งตัว สีสดใสกว่าเพราะตัดต่อมาจากยีน จะต่างจากปลาฉีดสีทั่วไปจะไม่กลมกลืน และถ้านำไฟฉายหรือ แบลกไลน์มาส่งดูจะเรืองแสง

 

สำหรับปลาม้าลาย และปลาเสือเยอรมันเรือง มีราคาขายปลีกไม่เกินตัวละ 10 บาท แต่หากมาจากฟาร์มราคาจะถูกลงอีก ทำให้ราคาดึงดูดคนเลี้ยง เพราะปลาม้าลายพันธุ์พื้นเมืองจะมีแค่สีขาว และท้องแบบม้าลายขาวดำ

 

สำหรับผู้เพาะเลี้ยงปลาจีเอ็มโอ จะยังมีความผิดทางกฎหมาย ตามมาตรา 65 และ มาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 และบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 มีโทษทั้งจำคุกไม่เกิน 1-2 ปี ปรับไม่เกิน 1-2 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ปลาเรืองแสง" สวยอันตราย ตัดต่อ GMOs ใครมีให้คืนกรมประมง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง