ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดใจ 2 หญิงแกร่งทำงานอนุรักษ์ 32 ปีสืบนาคะเสถียร

สิ่งแวดล้อม
1 ก.ย. 65
13:35
2,119
Logo Thai PBS
เปิดใจ  2 หญิงแกร่งทำงานอนุรักษ์ 32 ปีสืบนาคะเสถียร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสออนไลน์ เปิดใจ 2 หญิงแกร่ง "วีรยา โอชะกุล" และ "อรยุพา สังขะมาน" ผู้ปิดทองหลังพระ แรงบันดาลใจจากสืบ นาคะเสถียร ต้นแบบการทำงานอนุรักษ์อย่างไม่ย่อท้อ

1 ก.ย.2565  รำลึก 32 ปี การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หลังจากตัดสินใจปลิดชีวิตเมื่อ 1 ก.ย.2533 เพื่อเรียกร้องให้สังคม และราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับตัวแทนคนอนุรักษ์ผู้หญิงแกร่ง 2 คนในฐานะคนเบื้องหลังงานอนุรักษ์

เข้าใจพี่สืบจริง ๆ เมื่อมาสัมผัสการทำงานอนุรักษ์ด้วยตัวเอง ต้องทนแรงกดดัน แก้ปัญหางานช้ำ ๆ บางครั้งไปไม่ถึงจุดสุดท้ายสักที หรือแก้ไม่ได้ ทั้งที่ทำอย่างสุดความสามารถแล้ว

น.ส.วีรยา โอชะกุล ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) สะท้อนการทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ว่า "สืบ นาคะเสถียร" ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ทำทุกอย่างเพื่อคนอื่นทั้งสิ้น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง เป็นวิธีคิดที่เสียสละ ไม่รู้จะเทียบกับอะไร เพราะมีใจที่น่าเคารพมาก

วีรยา เล่าว่า ช่วงที่สืบเสียชีวิตเมื่อปี 2533 ขณะนั้นกำลังศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อทราบข่าวตอนนั้นรู้สึกตกใจว่าเหตุใดสืบ ถึงเลือกจบชีวิต พร้อมตั้งคำถามว่าการทำงานยากอย่างไร ก็ทำไปตามหน้าที่ ไม่น่ามีปัญหา ไม่มีทางออกจริง ๆ เลยหรือ

แต่เมื่อมาทำงานจริง ๆ ก็รู้ว่าปัญหาหนักมากจริง ๆ สืบตัดสินใจหาทางออกแบบนี้ เป็นแรงกระตุ้นให้คนหันมามองปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ นับถือว่าเป็นความคิดที่ยิ่งใหญ่ และเสียสละมาก

สืบ สร้างจิตวิญญาณให้คนรุ่นต่อ ๆ มา ได้มีเป้าหมายในชีวิต เข้าใจพี่สืบจริง ๆ เมื่อได้มาสัมผัสการทำงานด้วยตัวเอง ต้องทนแรงกดดัน แก้ปัญหางานช้ำ ๆ บางครั้งไปไม่ถึงจุดสุดท้ายสักที หรือแก้ไม่ได้ ทั้งที่ทำสุดความสามารถแล้ว

กดดัน แบกรับปัญหา 

ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.12 กล่าวว่า แรงกดดันในการทำงานอนุรักษ์มีทุกยุคทุกสมัย แต่ปัญหาและแรงกดดันจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จึงต้องปรับตัวและมีจุดยืน ไม่ให้หลงลืมทางที่ตั้งมั่นจะเดิน เพราะบางครั้งไปขอรับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ หรือไม่ได้ให้ค่าความสำคัญและไม่เห็นความลำบากของเจ้าหน้าที่

เข้าใจแรงกดดันของสืบ ว่าทำงานอย่างโดดเดี่ยว หันหน้าไปหาใครไม่ได้แล้ว พูดไปก็ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครรับฟัง ปัญหาเยอะไปหมด คนที่อยู่ในพื้นที่ต้องแบกทุกด้าน เห็นว่าลูกน้องทำงานหนักขนาดไหน แต่เราช่วยเหลือไม่ได้ ก็กดดันตัวเอง

ความเสียสละของสืบ เป็นแรงกระเพื่อมให้คนรุ่นหลังหันมาสนใจงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหันมามองปัญหาอย่างจริงจัง แม้ปัจจุบันทิศทางปัจจัยคุกคามลดลง และสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น จากการการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ขณะนี้พบปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่มากขึ้นตามไปด้วย

 

ทิศทางการทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงเน้นแก้ปัญหาสัตว์ป่ารบกวนประชาชน สร้างความเข้าใจกับชุมชนให้อยู่ร่วมกันได้ และจัดการพื้นที่ป่า หรือบ้านของสัตว์ป่าอย่างเหมาะสม เพิ่มแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร โป่ง ลดปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่

ภาพรวมการทำงานในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ การลาดตระเวนเชิงคุณภาพทำให้ปัจจัยคุกคามลดลง

วีรยา ยังฝากถึงคนรุ่นใหม่ให้เห็นค่าความสำคัญ และเข้ามาช่วยสานต่องานอนุรักษ์ เพราะเป็นอนาคตของพวกเขาเอง

ต้นแบบสืบ ช่วยสัตว์หนีน้ำท่วมเขื่อนเชี่ยวหลาน

ยังมีแรงสู้ ไม่ท้อ ท้อไม่ได้ แรงบันดาลใจมาจาก สืบ นาคะเสถียร เป็นคนที่จุดไฟดวงใหญ่ในวงอนุรักษ์เมื่อ 32 ปีก่อน เราอาจเป็นฟันเฟืองเล็กๆ หนึ่งในทำงานคนอนุรักษ์จากทั่วประเทศ 

อรยุพา สังขะมาน สาวน้อยร่างเล็ก แต่ใจใหญ่ เธอทำงานมานาน 12 ปี ในฐานะผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แรงบันดาลใจที่เธอยืนหยัดอยู่เบื้องหลังภารกิจ รณรงค์และทำงานอย่างไม่ย่อท้อ โดยมี "สืบ นาคะเสถียร" เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจมาตั้งแต่เธออายุเพียง 6 ขวบ 

เราทันในยุคที่เห็นสารคดีสืบ นาคะเสถียร ช่วยสัตว์จมน้ำในเขื่อนเชี่ยวหลาน บอกกับแม่ว่าอยากทำงานเหมือนคนนี้ เป็นงานที่น่าสนใจ ในวัยเด็กช่วง 6-7 ขวบ แต่พอโตขึ้นลืมไป

 

อรยุพา บอกว่า แต่ชีวิตพลิกผัน เธอเรียนคณะนิติศาสตร์ แต่กลับไม่ได้ทำงานกฎหมายโดยตรง แต่เมื่อโตขึ้น ใจยังชอบคืองานออกป่า ออกพื้นที่ จนไปและมาสมัครพื้นที่ภาคสนามที่อุ้มผาง แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก และเธอไม่ย่อท้อและเก็บประสบการณ์ เป็นอาสาสมัครวิจัยชะนีอยู่ 1 ปี จากนั้นจึงได้กลับมาสมัครงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และได้ทำงานที่นี่

รณรงค์ทางออก-ไม่ใช่นักค้านเขื่อน 

อรยุพา บอกอีกว่า เป้าหมายการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นงานรณรงค์สร้างจิตสำนึก และการมีส่วนร่วม ไม่ใช่องค์กรที่ค้านทุกเรื่องกับโครงการรัฐ เช่น เรื่องการสร้างเขื่อนในป่า จากการรวบรวมพบว่ามีโครงการอ่างเก็บน้ำและเขื่อนในเขตป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ รวม 90 โครงการ

อย่างล่าสุดที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขับเคลื่อนเช่น เขื่อนวังโตนด จ.จันทบุรี ข้อมูลทางวิชาการ พบว่าอยู่ในวังโตนดอยู่ในอุทยานเขาสิบห้าชั้น และเขตป่าสงวนแห่งชาติอย่างละ 7,000 ไร่ ป่าสงวนเป็นสวนยาง ซึ่งกรมชลประทานสามารถขยับให้จุดน้ำท่วมบริเวณป่าเสื่อมโทรมได้หรือไม่

โครงการพัฒนา เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ เราเข้าใจประชาชนในพื้นที่แต่ทางกลับกันถ้ามีทางเลือกอื่นที่จะเก็บต้นทุนธรรมชาติไว้ระยะยาวได้หรือไม่ อากาศ น้ำที่เราใช้คือทรัพยากรร่วมกัน เพราะป่าหายไปสร้างคืนยาก เรามีป่าแค่ 31% 

ทั้งนี้ อรยุพา บอกว่า การรณรงค์ของมูลนิธิสืบ จะมีทางออกให้ประชาชน เพราะมองถึงระยะยาว ทางออกและทางเลือก ไม่อยากให้เสียพื้นที่ป่าอีก และไม่อยากให้การเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร สูญเปล่า แม้ตอนนี้สถานการณ์การตัดไม้ทำลายจะดีขึ้น แต่ยังไม่สิ้นสุดการทำลาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง