เป็นเรื่องไม่เหมาะสมและอันตรายอย่างยิ่ง หากคิดหรือเชื่อว่าสภาล่มเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาล่มเพราะองค์ประชุมสภาไม่ครบ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในรอบ 2 ปีมานี้ อันเกิดจากสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติไม่เข้าร่วมประชุม หรือเข้าร่วมแต่ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม
หลังจากก่อนหน้านี้ การประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. เกิดเหตุการณ์รัฐสภาล่มต่อเนื่อง 3 ครั้ง กระทั่งร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ไปต่อไม่ได้ ต้องกลับไปเอาร่างเดิมมาใช้
ครั้งนั้นเหตุผลที่อธิบายกันจากพรรคการเมืองใหญ่ต่างขั้ว 2 พรรค และ ส.ว.ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะไม่เอาสูตรหาร 500 ยังพอจะเข้าใจ และเป็นสิทธิที่ทำได้ หากเห็นว่าร่างกฎหมายบางฉบับ อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาหากประกาศใช้
แต่ล่าสุด ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 66 ในวาระที่ 2 คราวนี้สภาล่มติดต่อกันอีก 2 วัน กระทั่งถึงขณะนี้ ยังเหลืออีก 11 มาตรา ต้องไปประชุมต่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม จากเดิมที่หวังจะให้จบตั้งแต่คืนวันศุกร์ แม้จะใช้เวลาพิจารณาถึงตีสองตีสามก็ไม่เป็นไร แต่สุดท้ายก็ล่ม ประชุมต่อไม่ได้
ด้านหนึ่ง จะอาจมีข้อมูลต้องอภิปรายมากมาย ต้องใช้เวลา จนต้องยืดเยื้อออกไป อันเป็นผลจากการทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งของทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็พอจะรับได้ แต่การที่สมาชิกผู้ทรงเกียรติไม่เข้าร่วมประชุม จนห้องดูโหรงเหรงอย่างเห็นได้ชัด อภิปรายไปด้วยต้องคอยนับองค์ประชุมไปด้วย ส่งผลให้ประชาชนที่ติดตามดูอยู่ไม่พอใจ
เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้ เกิดขึ้นบ่อยซ้ำซากเกินไป ไม่รู้จะเป็นเกมการเมืองหรือไม่ โดยรวมแล้วจะโดนกล่าวว่า ไม่รับผิดชอบแต่ต่อหน้าที่และภารกิจ ขี้เกียจ สันหลังยาว ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เรื่องดีต่อสภาแน่นอน
ไม่ต้องตอกย้ำว่า การเป็น ส.ส.นั้น ไม่มีใครไปบังคับหรืออ้อนวอนให้เป็น ต่างล้วนอาสาตัวลงพื้นที่ยกมือไหว้ชาวบ้าน ขอให้เลือกไปเป็นตัวแทนในสภาฯ ทั้งสิ้น ยังไม่นับเงินงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายในการประชุมแบบเปล่าประโยชน์ ดังเช่น ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกล้าคนหนึ่ง ประมาณการตัวเลขไว้ครั้งละ 4,100,000 บาท ต่อสภาล่ม 1 ครั้ง
แต่การล่มของที่ประชุมครั้งแล้วครั้งเล่า สมาชิกผู้ทรงเกียรติกลับยังรับเงินเดือนเต็ม เงินเพิ่มและสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ยังได้ครบถ้วน แต่การทำหน้าที่กลับไม่คุ้มค่าอย่างที่ผู้คนคาดหวัง แม้จะเคยมีแนวทางสารพัดเพื่อแก้ปัญหาสภาล่ม
แต่จนแล้วจนรอดก็แก้ไม่ได้ เพราะมีช่องทางให้หลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะการยื่นหนังสือลา ทั้งที่การเป็นสมาชิกสภาหรือรัฐสภา ควรต้องเป็นอาชีพหลัก ไม่ใช่อาชีพรอง กระทั่งมีบางคนเสนอให้จ่ายค่าจ้างเป็นรายวันก็มี คือจ่ายเฉพาะวันที่มาประชุม และทำหน้าที่ครบถ้วน
โดยความเป็นจริง หนึ่งสัปดาห์ ส.ส.มีประชุมแค่ 2 วัน เต็มที่คือ 3 วัน ส่วน ส.ว.ประชุมสัปดาห์ละ 1 วัน เต็มที่ 2 วัน หรืออาจมีประชุมร่วมรัฐสภาบ้างแต่ไม่บ่อยนัก มิหนำซ้ำ ปีหนึ่งๆ ประชุมสภาเพียง 2 สมัย สมัยละ 3-4 เดือน ไม่ใช่ประชุมทั้งปีแต่อย่างใด
เป็นเรื่องความรับผิดชอบ และจะมีผลต่อทัศนคติของเด็กและเยาวชน รวมถึงการใช้สภาสำหรับการหาทางออกให้กับข้อขัดแย้งในเชิงการเมือง ยกตัวอย่างผลสำรวจเด็กและเยาวชนเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2555 อาชีพนักการเมืองถือเป็นอาชีพท้าย ๆ ที่เยาวชนเลือกที่จะทำ ด้วยสัดส่วนมากถึง 45.62 % ด้วยเหตุผล เพราะวุ่นวาย นักการเมืองทะเลาะกัน และไม่เป็นประชาธิปไตย
การละเลยหรือปล่อยให้สภาล่มครั้งแล้วครั้งเล่า จึงเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง