เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2565 #ล้างหนี้กยศ ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ หลังมีการประกาศล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายกองทุน กยศ.ต่อรัฐสภาให้รัฐบาลมีกลไกเข้ามาเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้ หลังสำเร็จการศึกษา 2 ปี จนกลายเป็นกระแสดรามา โดยความเห็นในทวิตเตอร์ มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
บางส่วนมองว่า หนี้ กยศ.เป็นหนี้ที่ตัดสินใจกู้ยืมมาเอง ดังนั้นเมื่อจบการศึกษาก็ควรที่จะเป็นผู้ใช้คืนทั้งหมด บางคนมองว่า ไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ยืมและจ่ายหนี้
อีกความเห็นมองว่า เพราะเป็นสวัสดิการให้ยืมจึงต้องคืน การเรียกร้องสวัสดิการให้เปล่าทำได้ แต่ถ้าจะเรียกร้อง ล้างหนี้ กยศ.ก็ต้องคืนเงินให้คนที่จ่ายหนี้ไปแล้วด้วยถึงจะเท่าเทียม
กระแสวิพากษ์วิจารณ์นี้ ยังลามไปถึงในเฟซบุ๊ก โดยเพจดังได้ออกมา เปิดประเด็นนี้ พร้อมออกตัวไม่เห็นด้วย เพราะเคยกู้ยืมมาก่อน และมองว่า กยศ.ช่วยสร้างอนาคตให้หลายคน แต่ปัญหาคือการที่มีคนที่ไม่ได้ยากจนจริง ๆ มากู้ หรือคนที่ไม่ยอมจ่ายหนี้ หากอนาคตจะผลักดันให้มีการเรียนฟรี เห็นดีด้วย แต่ใครที่กู้มาแล้ว ก่อนหน้านี้ต้องผ่อนชำระให้หมด
ขณะที่นายรัชพล ศิริสาคร ทนายความ โพสต์เฟซบุ๊กในมุมข้อกฎหมายว่า กยศ. คือ กองทุนให้กู้ยืม ยืมแล้วต้องใช้หนี้คืนไม่ใช่ทุนการศึกษาที่จะให้ฟรี ๆ
กยศ.ชี้ยังไม่มีการพิจารณายกหนี้ให้ผู้กู้
ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ระบุว่า ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องการล้างหนี้ หรือ การยกเลิกหนี้ มีเพียงออกมาตรการผ่อนปรนมาตรการให้กับลูกหนี้เท่าที่จะทำได้
ส่วนนโยบายการหักเงินเดือน ก็จะหักตามข้อตกลง แต่หากบางคนจ่ายไม่ไหวต้องการปรับเปลี่ยนยอดเงิน ก็สามารถทำได้ โดยต่ำสุดที่ กยศ.หัก คือ 10 บาท
นอกจากนี้ กยศ.ยังอยู่ระหว่าง ปรับแก้กฎหมายเพื่อแปลงหนี้ใหม่ให้กับลูกหนี้ที่ฟ้องคดีแล้วได้ โดยจะให้ลูกหนี้ มารีเซตหนี้ใหม่ ผ่อนใหม่
ทั้งนี้ กยศ.ปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 20 ปี ผู้กู้ 6,200,000 คนเป็นเงิน 700,000 ล้านบาท มีผู้ปิดบัญชีไปแล้วประมาณ 1,600,000 คน อยู่ระหว่างการเรียนประมาณ 1,000,000 คน อยู่ระหว่างการชำระหนี้ประมาณ 3,500,000 คน และ ในจำนวนนี้มีเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ประมาณ 83,000 ล้านบาท