มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี มิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่”
ถือเป็นด่านสุดท้ายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเผชิญ เมื่อถึงวันที่ 23 ส.ค.2565 ซึ่งทางฝ่ายค้าน นักวิชาการด้านกฎหมายบางส่วน รวมถึงฝ่ายที่ไม่ใช่กองเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่า ครบกำหนดการนั่งบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้ว เมื่อนับจากครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557 หลังการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557
เรื่องกรอบเวลา 8 ปี ดังกล่าว มีอยู่ 3 มุมมอง 3 กรอบเวลา คือมุมมองแรก ต้องนับตั้งแต่วันที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งแรก 24 ส.ค.2557 ครบ 8 ปี วันที่ 23 ส.ค.2565
กรอบเวลาที่ 2 คือครบกำหนด 5 เม.ย.2568 หรือ 8 ปีนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เมื่อ 6 เม.ย.2560
กรอบที่ 3 วันที่ 8 มิ.ย.2570 ครบ 8 ปีนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯครั้งที่ 2 หลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2562
3 กรอบเวลาดังกล่าวนี้ กูรูนักฎหมายตีความแตกต่างกัน กรอบเวลาแรกให้เหตุผลว่า การใช้กฎหมายให้มีผลบังคับย้อนหลัง คือเอาเนื้อความในรัฐธรรมนูญในปี 2560 กลับไปบังคับใช้เรื่องที่เกิดในปี 2557 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
กรอบเวลาที่ 2 ฝ่ายสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ย้อนแย้งว่า เป็นช่วงที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้ แต่ยังไม่มีการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ
ดังนั้น กรอบเวลา 8 ปี จริง ๆ จึงควรต้องอยู่ในกรอบที่ 3 ภายหลังได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ 9 มิถุนายน 2562 หลังการเลือกตั้งและสรรหานายกฯ ตามกติกาในรัฐธรรมนูญ ปี 2560
พล.อ.ประยุทธ์ จึงจะครบ 8 ปี จริง ๆ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2570 หรืออีกราว ๆ 1 เทอม หากมีการเลือกตั้งในต้นปี 2566 หรือต้นปีหน้า
แต่ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังมีข้อความในบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคแรก ระบุว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ด้วย
จึงเป็นประเด็นที่กลุ่มไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในกรอบเวลาที่ 3 นำมาใช้โต้แย้ง เพราะมีความชัดเจนในรัฐธรรมนูญ มาตรานี้อยู่แล้วว่า ให้นับรัฐมนตรี ซึ่งรวมทั้งนายกฯ เป็นคณะรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560
แต่ประเด็นนี้ ก็ถูกอธิบายจากกลุ่มที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ว่า ความหมายใน มาตรา 264 วรรคแรก ก็เพื่อหวังให้การบริหารประเทศเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ไม่ขาดคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร และไม่ได้หมายความว่าคณะรัฐมนตรีชุดเปลี่ยนผ่าน จะต้องอยู่ภายใต้บทบังคับของรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งหมด
การถกเถียงจึงยังไม่จบสิ้น และเชื่อว่าสุดท้ายต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนี้ก็มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ มือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาล อย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มีเชิญชวนท้าทาย หากใครสงสัยให้ยื่นเรื่องกับศาลรัฐธรรมนูญได้เลย สะท้อนมุมมองและมีความมั่นอกมั่นใจในทีอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีกรณีฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนฯ เคยมีข้อเสนอวงในถึงนายชวน หลีกภัย ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ระบุกรอบเวลา 8 ปี จะอยู่ในแนวทางที่ 3 คือ นับตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 9 มิ.ย.2562 ซึ่งจะครบ 8 ปี วันที่ 8 มิถุนายน 2570
หากเป็นไปตามนี้ หรืออาจมีอีกหลายปัจจัย ที่ทำให้ประชาชนทั่วไปคนเชื่อว่า จะมีเรื่องที่เป็นผลในทางบวกกับ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งเรื่องการตีความวินิจฉัย หรือเรื่องปาฏิหาริย์ของกฎหมาย
เท่ากับว่า แม้จะมีคำถามเรื่องนี้อีกยาวนานหลายชุดกว่าจะถึง 23 ส.ค.2565 แต่จะเป็นแค่คำถามกวนใจให้นายกฯ หงุดหงิดอารมณ์บ่จอยเท่านั้นเอง