ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : ตั้ง (พรรค) ง่ายแต่เกิดยาก

การเมือง
2 ส.ค. 65
14:32
397
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ตั้ง (พรรค) ง่ายแต่เกิดยาก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การเปิดตัวและเปลี่ยนชื่อพรรคการเมืองใหม่จาก "พลังชาติไทย" เป็น "รวมแผ่นดิน" โดยมีพล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ เมื่อ 1 ส.ค.2565 ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดในแวดวงพรรคการเมือง

และจะต่อด้วยการประชุมใหญ่สามัญ และเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" วันที่ 3 สิงหาคม 65 นี้ โดยมีชื่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม เมื่อครั้งอยู่พรรคประชาธิปัตย์

แต่ตอนหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดึงมาช่วยงานสำคัญ ๆ หลายเรื่อง เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และจะมีกองหนุนร่วมสมทบอีกหลายคนจากกลุ่ม กปปส.เก่า

พรรคนี้ไม่เพียงจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเท่านั้น แต่ยังถูกจับตามองว่า เป็นการขยับครั้งสำคัญของกลุ่มการเมือง ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีพันธกิจสำคัญ คือสำรองไว้สำหรับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี

หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนใจ หรือเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นกับพรรคพลังประชารัฐ จนไม่สามารถเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้ พรรครวมไทยสร้างชาติ จะเป็นผู้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์

ขณะที่พันธกิจสำคัญอีกด้านหนึ่ง คือเป็นพรรคที่รองรับ ส.ส.และนักการเมือง กลุ่มที่ยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

จากนั้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคม จะยังมีการเปิดตัวพรรคการเมืองที่เป็นพรรคท้องถิ่น ในชื่อ "พรรคพลังไทยชัยชนะ" ของนายอร่าม หรือ นายอร่ามอาชว์วัต โล่ห์วีระ นักการเมืองรุ่นเก๋าอีกคน อดีต รมช.คมนาคม สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อปลายปี 2539 ปัจจุบันเป็นนายกฯ อบจ.ชัยภูมิ

แม้จะยืนยันว่า เบื้องต้นจะเป็นพรรคท้องถิ่น เป็นทางเลือกสำหรับคนชัยภูมิ แต่ก็ถูกวิพากษ์ว่า เพื่อหวังตัดคะแนนพรรคเพื่อไทย ซึ่งครองเก้าอี้ ส.ส. 4 คน ในทั้งหมด 6 คนของจังหวัด โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง

พรรคของนายอร่าม จะไม่ใช่พรรคสุดท้ายที่เคลื่อนไหว เพราะเชื่อกันว่า ความเคลื่อนไหวเรื่องตั้งพรรคการเมืองหรือปรับเปลี่ยนชื่อใหม่ หรือเปิดตัวผู้บริหารพรรคชุดใหม่ จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากนี้

เพราะสถานการณ์ทางการเมืองมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่เฉพาะกรณีการเป็นนายก 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ และที่สำคัญ คือนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า

หลังจากเสธ.อู้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา เพิ่งจะฟันธงว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีแนวโน้มจะยุบสภาในเดือนมกราคม หรืออย่างช้าเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเปิดทางให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ลงสมัครไม่ต่ำกว่า 90 วัน

สำหรับเรื่องจัดตั้งพรรคการเมือง ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองเป็นจำนวนมากแห่งหนึ่ง

นับตั้งแต่อภิวัฒน์สยาม เดือนมิถุนายน 2475 จนถึงปัจจุบัน มีการจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วทั้งสิ้น 341 พรรคการเมือง ก่อนจะล้มหายตายจาก หรือมีการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ทางการเมือง ยุบหรือย้ายไปพรรคการเมืองอื่น ๆ สลับหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ

เฉพาะปี 2550-2559 มีพรรคการเมืองจดทะเบียนใหม่ถึง 119 พรรค แต่นับถึงเดือนมีนาคม 2564 มีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนและมีกิจกรรมทางการเมืองอยู่ทั้งสิ้น 86 พรรค และเชื่อว่า น่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกระลอกหนึ่งก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจจะมีรวมกันแตะตัวเลขหลักร้อยอีกครั้งหนึ่ง

เพราะกติกาการตั้งพรรคการเมือง โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 และกฎหมายลูกว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. เปิดช่องให้ตั้งพรรคการเมืองได้ง่าย แค่ 500 คนรวมตัวจองชื่อจัดตั้งพรรคต่อกกต. จากนั้นปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งว่าด้วยจำนวนสมาชิกและสาขาภาคละ 1 แห่ง ก็สามารถจัดตั้งและจดทะเบียนพรรคการเมืองได้แล้ว

แต่จะแจ้งเกิดได้รับเลือกตั้งส.ส.หรือไม่ เป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะตั้งง่าย แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ถือว่าเป็นเรื่องยากทีเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง