ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลุ้นคำตัดสิน ‘บ่อขยะศรีเทพ’

สิ่งแวดล้อม
24 ก.ค. 65
23:36
874
Logo Thai PBS
ลุ้นคำตัดสิน ‘บ่อขยะศรีเทพ’
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กว่า 4 ปีที่ชาว อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ต่อสู้เรื่องมลพิษในชุมชน ที่อ้างว่าอาจมาจาก “โรงงานคัดแยกฝังกลบขยะ” ในพื้นที่ ที่ผ่านมาร้องเรียนไปยังหน่วยงาน แต่สุดท้ายมลพิษก็ยังไม่ดีขึ้น มากไปกว่านั้น มีการอนุญาตให้ขยายกิจการเพิ่ม นำมาสู่การฟ้องศาลของชาวบ้าน

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ชาวบ้านม่วงชุม ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ กว่า 100 คน เดินทางร่วมฟังการไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญ หลังศาลปกครองนครสวรรค์ ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังกรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตรวจสอบข้อเท็จจริง และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงงานคัดแยกและฝังกลบขยะ ในพื้นที่ ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ การไต่สวนในครั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ ไปประกอบการพิจารณาคดีของศาล หลังชาวบ้านยื่นฟ้อง หน่วยงานที่กำกับดูแล รวมไปถึงโรงงานผู้ก่อมลพิษ ขอให้เพิกถอนใบอนุญาต และเร่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

 

ช่วงแรกชาวบ้านได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่น จนมีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบพบว่า มีการปนเปื้อนน้ำใต้ดิน จึงประสานให้หน่วยงานเข้ามาแก้ไข แต่ไม่ได้รับการแก้ไข ชาวบ้านเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรม จึงมาฟ้องศาล

 

 

นายพงพันธุ์ เพิ่มพิพัฒน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ.ม่วงชุม ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ หนึ่งในผู้ฟ้องบอกว่า สาเหตุที่ชาวบ้านฟ้องศาลปกครอง มาจากช่วงปี 2564 กรมทรัพยาการน้ำบาดาล และกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ตรวจสอบน้ำใต้ดิน พื้นที่โดยรอบบริษัทเอกชน เก็บตัวอย่างน้ำทั้ง 28 จุดไปตรวจ ตัวอย่างน้ำบาดาล 20 ตัวอย่าง น้ำผิวดิน 5 ตัวอย่าง น้ำชะขยะ 2 ตัวอย่าง และน้ำทิ้ง 12 ตัวอย่าง

ผลสรุปจากการตรวจสอบของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงวันที่ 11 มกราคม 2565 พบว่า ทิศทางการไหลของน้ำบาดาลใต้ดิน ไหลไปทางด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านม่วงชุม หมู่ที่ 4 และมีทิศทางไหล ไปยังบ่อน้ำบาดาลของบ้านนางลำใย แสนคำ เป็นจุดที่พบค่าสารปนเปื้อนในบ่อน้ำบาดาล (ตามรูปที่ 1)

 

 

พบการปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน

บ่อน้ำบาดาลของนางลำใย คำแสน ชาวบ้านม่วงชุม กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สั่งห้ามใช้มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 หลังตรวจพบสารปนเปื้อน ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

 

ก่อนหน้านี้นางลำใย ใช้บ่อน้ำบาดาลที่ขุดเจาะ ทั้งอุปโภคบริโภค มานานกว่า 5 ปี แต่หลังจากหน่วยงานตรวจพบสารปนเปื้อน เธอต้องต่อน้ำประปาที่อยู่ห่างจากบ้านกว่า 1 กิโลเมตร มาใช้ทดแทน

บ้านของนางลำใย อยู่ห่างจากโรงงานคัดแยกและฝังกลบขยะ ไม่ถึง 300 เมตร นอกจากผลกระทบของน้ำบาดาลแล้ว สิ่งที่เธอทนมากว่า 4 ปี คือ ปัญหาเรื่องกลิ่น เธอบอกว่าทุกวันนี้ต้องปิดประตู หน้าต่างบ้าน ตลอดเวลา เนื่องจากช่วงที่มีกลิ่นเหม็น จะทำให้ปวดหัว ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เช่นเดียวกับชาวบ้านอีกหลายคนในหมู่บ้านม่วงชุม

4 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้างกับชาวศรีเทพ ทำไมถึงมีการฟ้องศาล ?

เดิมทีหลุมฝังกลบเป็นของ บริษัท โซ้วกิมฮวด ดิซโพส เวสท์ จำกัด (1999) ก่อนจะโอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ซึ่งถือครองใบอนุญาต ไว้เพียง 3 เดือน ก่อนจะโอนต่อให้เจ้าของปัจจุบัน คือ บริษัท เอกอุทัย จำกัด ในปี 2559 หลังจากนั้น ชาวบ้านในพื้นที่อ้างว่า เริ่มประสบปัญหาทั้งเรื่องกลิ่นเหม็น และความผิดปกติของน้ำบาดาล

ในปี 2561 ชาวชุมชนบ้านม่วงชุมรวมตัวกันร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหามลพิษ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับทราบถึงการร้องเรียนของชาวบ้าน และได้มีคำสั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไข ภายหลังพบว่า ชาวบ้านยังประสบปัญหามลพิษ จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีในปี 2562 แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เช่นกัน

ต้นปี 2563 เกิดเหตุฝุ่นละอองสีเหลืองฟุ้งกระจายจากพื้นที่โรงงาน ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากเกิดอาการระคายเคืองจมูกและตา บางคนมีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันจนต้องเข้าโรงพยาบาล ในปีเดียวกัน มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ยังตรวจพบสารตะกั่วในบ่อบาดาลของชาวบ้านอีกด้วย

ปี 2564 ชาวชุมชนบ้านม่วงชุม ซึ่งได้ร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลางเข้ามาแก้ปัญหาโดยตลอด ทั้งยังได้มีส่วนร่วมในการประชุมไตรภาคีอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่เห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม จึงตัดสินใจรวมตัวประท้วงหน้าโรงงานในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และสิงหาคม

ในปีเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ตรวจสอบบ่อน้ำใต้ดินของชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงโรงงาน ผลการตรวจของกรมควบคุมมลพิษพบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของแมงกานีส นิกเกิล สารหนู และแบเรียม ที่มีค่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน ในขณะที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลตรวจสอบตัวอย่างน้ำในบ่อบาดาลของชาวบ้านและพบว่า มีความสอดคล้องกับคุณสมบัติทางเคมีของน้ำชะขยะภายในบริษัท แสดงให้เห็นว่า การประกอบกิจการของบริษัท ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะและบริเวณใกล้เคียง

มีนาคม 2565 กรมโรงงานอุตสาหกรรม อนุญาตเปิดหลุมฝังกลบหลุมที่สองแก่บริษัท ในขณะที่ชาวบ้านยังประสบปัญหากลิ่นเหม็นและน้ำเสียภายใต้การประกอบกิจการของโรงงาน ทำให้ตัวแทนชาวบ้าน 14 คน ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง

ชาวบ้านยื่นฟ้องใคร ?

ตัวแทนชุมชนบ้านม่วงชุม รวม 14 คน ยื่นฟ้อง 3 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานผู้อนุมัติอนุญาตและกำกับดูแลโรงงาน และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คลองกระจัง ในฐานะหน่วยงานราชการท้องถิ่น เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ให้โรงงานฝังกลบขยะของบริษัทประกอบกิจการในพื้นที่ จากนั้นศาลมีความเห็นให้เพิ่ม อธิบดีกรมโรงงานและอุตสาหกรรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจัง และบริษัท เอกอุทัย จำกัด เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

ฟ้องอะไรบ้าง ?

กรณีนี้ ผู้ยื่นฟ้องเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินควรจนเป็นเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของมลพิษปนเปื้อนไปยังแหล่งน้ำทั้งผิวดินและใต้ดิน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานรัฐทั้ง 3 ดำเนินการใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

1. ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เลขที่ 3-105-1/45พช. (เลขที่ทะเบียนโรงงานใหม่ 10670000125458 ) ของบริษัทเอกอุทัย จำกัด

2. ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการของบริษัทเอกอุทัย จำกัด ทั้งหมด ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีและไม่เกิดผลกระทบต่อชีวิต สุขภาพ และการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่

3. ให้องค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจัง เข้าระงับเหตุรำคาญโดยมีคำสั่งห้ามมิให้บริษัทเอกอุทัย จำกัด นำวัสดุสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วเข้ามาทิ้งหรือฝังกลบในพื้นที่โรงงาน จนกว่าจะมีการแก้ไขเหตุรำคาญให้สิ้นไป

ความหวังของชาวบ้าน

 

 

พงพันธุ์ หนึ่งในผู้ฟ้อง บอกว่า ความหวังของชาวบ้านตอนนี้ คือคำพิพากษาของศาลว่าจะออกมาในรูปแบบใด หากคำตัดสินของศาลให้ชาวบ้านชนะคดี คิดว่าปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานจะได้รับการฟื้นฟู สิ่งที่ชาวบ้านกังวลคือ ถึงแม้จะมีคำตัดสินให้มีการฟื้นฟู แต่ไม่ถอดใบอนุญาต ปัญหามลลพิษในพื้นที่ อาจแก้ไขได้เฉพาะช่วงแรกและอาจกลับมาอีกในอนาคต

วันแห่งความหวังใกล้เข้ามาทุกที

ศาลนัดไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญ ทั้งกรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรน้ำมาบาล ในวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หลังการไต่สวน ศาลนัดนั่งพิจารณาครั้งแรกวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 และนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 .

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง