ปี 2558 ประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมาธิการยุโรป ฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ถึงแนวโน้มที่อาจถูกระบุว่าเป็น “ประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม” หรือ IUU Fishing หากประเทศไทยไม่เร่งแก้ไขจะส่งผลต่อการส่งออกสัตว์น้ำไปยังสหภาพยุโรปและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก คาดการณ์ว่า อาจทำให้ไทย สูญเสียรายได้ปีละกว่า 17,000 ล้านบาท
ช่วงเวลานั้น รัฐบาลภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เร่งแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมาย และ คำสั่งตามมาตรา 44 หลายฉบับ รวมถึงยกเลิกทะเบียนเรือประมงพาณิชย์ 8,024 ลำ ในจำนวนนี้มีทั้งเรือที่ตรวจสอบไม่พบ เรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำประมงหรือใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย รวมถึง เรือที่ต้องการเลิกทำการประมง
มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาขณะนั้นช่วยให้ประเทศไทยได้รับการปลด “ใบเหลือง” จากสหภาพยุโรปในปี 2562 แต่ก็สร้างรอยแผลให้กับธุรกิจประมงไทยในหลายภาคส่วน หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือ ลูกเรือประมงไทยที่ทำงานบนเรือประมงผิดกฎหมาย หรือ เรือผี
เปิดใจอดีตแรงงานเรือผี
ภาพ : อดีตแรงงานประมง จ.กาฬสินธุ์ ได้พบครอบครัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี
ผมอยู่เรือประมงมาตั้งแต่อายุ 14 เข้าออกเรือเป็นเรื่องปกติ ไม่เคยมีปัญหาแบบนี้ พอรอบหลังมาเจอปัญหาที่ว่าปล่อยเรือทิ้ง ขายเรือทิ้ง มันเลยกลายเป็นตกระกำลำบาก หาทางกลับบ้านไม่ได้
อดีตแรงงานประมงอายุ 39 ปี จาก จ.กาฬสินธุ์ เปิดใจกับ The EXIT หลังจากได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN ได้กลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2565 พร้อมกับแรงงานประมงไทยอีก 3 คน
ทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือ หลังถูกนายจ้างลอยแพอยู่ที่เมืองกูชิง รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย นานกว่า 4 ปี
ปี 2558 ชายจาก จ.กาฬสินธุ์ ต้องจากภรรยาและลูกชายซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 2 ขวบมาลงเรือประมงเข้าสู่น่านน้ำมาเลเซีย ไม่มีใครคาดคิดว่า การเดินทางครั้งนั้นจะทำให้เขาต้องจากครอบครัวนานถึง 7 ปี
เขา เล่าขั้นตอนก่อนลงเรือว่า เถ้าแก่ให้เซ็นเอกสารบางอย่างซึ่งเขาไม่ได้อ่านรายละเอียด มีการเบิกเงินล่วงหน้าก่อนออกเรือ รวมถึงทำหนังสือเดินทางก่อนขึ้นเรือ โดยไต้ก๋งเป็นผู้เก็บไว้
ปกติก่อนเรือออกจากฝั่งต้องมีเจ้าหน้าที่มาตรวจเอกสาร แต่ครั้งนี้ไม่มี รวมรวบคนเสร็จ ถึงเวลาปลดเชือกออก ไม่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสักคน
เรือประมงนำเขาออกจากไทยมายังตันหยงมานิส ( Tanjung Manis ) ประเทศมาเลเซีย เขาบอกว่า ช่วง 2 ปีแรก ( 2559 – 2560 ) การทำประมงเป็นไปตามปกติ แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 ( ปี 2561 ) รัฐบาลไทยเริ่มเข้มงวดกวดขันเรื่องเรือ ทำให้เรือประมงเริ่มทยอยจอดจนหมด เรือประมงลำที่เขาทำงานอยู่ถูกจอดเทียบท่าไว้ที่ตันหยงมานิส และ ไม่ได้รับการติดต่อจากเถ้าแก่ที่ประเทศไทยอีกเลย
ไต้ก๋งว่าเอาเรือกลับไทยไม่ได้เพราะเรือไม่มีทะเบียน เจ้าของไม่ได้ลงทะเบียนที่เมืองไทย ตอนที่รัฐให้นายจ้างเอาเรือกลับไปลงทะเบียน เขาก็ไม่เอากลับไปทำ หลัง ๆ มาเขาเลยเอากลับไทยไม่ได้
สิ่งที่เกิดขึ้นกับแรงงานประมงคนนี้ ก็คือ เมื่อรัฐบาลเข้มงวดเรื่องการทำประมง เรือที่เขาทำงานอยู่จึงกลับประเทศไทยไม่ได้ เพราะเป็นเรือไม่มีทะเบียน และอาจถูดดำเนินคดีจากการใช้แรงงานผิดกฎหมาย เจ้าของเรือจึงตัดสินใจจอดเรือทิ้งไว้ที่ท่าเรือตันหยงมานิสในประเทศมาเลเซีย
ก็ทิ้งเฉย ๆ ตามน้ำตามลมไปเลย ไม่มีใครมาสนใจ ตอนนี้จอดเกยตื้นอยู่ในป่าที่ตันหยงมานิส หลายลำเหมือนกัน 20-30 ลำ เรือไทยหมดเลย หลายบริษัทจอดอยู่ที่นั่น
ไต้ก๋งหนีออกจากประเทศมาเลเซียกลับประเทศไทย โดยไม่พาลูกเรือกลับมาด้วยทิ้งไว้ให้เพียงหนังสือเดินทาง
ทั้งหมดกินนอนอยู่บนเรือประมงที่ถูกทิ้ง ขายทรัพย์สินทุกอย่างที่มีรวมทั้งโทรศัพท์ การติดต่อนายจ้างรวมถึงครอบครัว เป็นไปด้วยความยากลำบาก
พวกเขาผันตัวไปเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไปเพื่อหาเลี้ยงชีพ หลายคนรวมถึงชายชาวกาฬสินธุ์ย้ายจากตันหยงมานิสไปเมืองกูชิง
อยู่เกาะเดิมมันไม่ค่อยมีงานทำ หลัก ๆ ก็มีแต่เรือ มันเป็นที่จอดเรือ ออกไปข้างนอกก็ไม่ได้ แต่ถ้ามากูชิงยังไปไหนมาไหนได้ หางานรับจ้างทั่วไปได้ ถ้าไม่มีก็ไปเก็บขยะขาย ผมทำงานรับจ้างทั่วไปจนหนังสือเดินทางหมดอายุ ก็ไม่มีใครจ้างเราทำงานแล้วเพราะว่ามันผิดกฎหมาย ก็กลายเป็นคนเร่ร่อน หาเก็บของเก่าขาย
3 ปี หลังออกจากประเทศไทยโดยหวังว่าจะมีรายได้จากการทำประมงในต่างประเทศ ชีวิตของเขาพลิกผันกลายเป็นคนเร่ร่อนไร้งานทำเพราะหนังสือเดินทางหมดอายุ ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บเศษขยะขาย ใช้ห้องแถวร้างในเมืองกูชิงเป็นที่พักอาศัย
ที่นั่นเอง เขาได้พบกับอดีตแรงงานประมงไทยอีก 3 คนที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน หนึ่งในนั้นบอกว่า ตัวเองถูกนายจ้างกักขังก่อนส่งลงเรือประมงจนกระทั่งมาถูกลอยแพที่ประเทศมาเลเซีย และอาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์