ช่วยด้วย ผมถูกขังอยู่ในตึก
ชายชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน อายุ 25 ปี ขอความช่วยเหลือกลับประเทศ หลังจากเดินทางไปทำงานที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่นั่น ยังมีคนไทยอีก 13 คน ทั้งชาย - หญิง อายุตั้งแต่ 17-35 ปี รอความช่วยเหลือ
จุดเริ่มต้นของการไปทำงาน มาจากโพสต์โฆษณาในเฟซบุ๊ก ประกาศรับสมัครงานในพื้นที่คิงส์โรมัน เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เสนอเงินเดือน 30,000 บาท จึงตัดสินใจเดินทางไปทำงาน
การนัดหมายเกิดขึ้นผ่านนายหน้าไม่ทราบสัญชาติ แต่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ใช้แอปพลิเคชัน WeChat ในการแจ้งรายละเอียด การนัดหมายการเดินทางลักลอบข้ามแม่น้ำโขงไปยัง สปป.ลาว เกิดขึ้นปลายเดือนมกราคม 2565
นายหน้านัดพบที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ก่อนลงเรือริมแม่น้ำโขง ลักลอบข้ามไป สปป.ลาว
กักตัวอยู่นอกคิงส์โรมัน 7-8 วัน โดยที่ต้องออกเงินซื้อข้าวกินเอง พอครบ 7 วันแล้วได้เข้ามาในเขตคิงส์โรมัน กักตัวอีกเกือบ 1 เดือนในช่วงเวลาที่กักตัวเกือบเดือน หลังๆ มาก็เริ่มติดต่อคนที่แนะนำเรามาทำงานนี้ไม่ได้แล้ว
เมื่อครบกำหนดการกักตัวมีชาวจีนมารอรับไปบริษัทแรก 4-5 วัน จากนั้น ถูกส่งตัวไป บริษัทที่ 2 ทำงานประมาณ 1 สัปดาห์ จึงถูกย้ายไปบริษัทที่ 3 ซึ่งมีชาวลาวสอนงาน
ลักษณะงานคือ ให้สร้างโปรไฟล์เป็นคนอื่น และคุยกับลูกค้าในแอปหาคู่หรือเฟซบุ๊กจากนั้นจึงชวนไปคุยต่อในแอปพลิเคชันไลน์ พยายามคุยให้สนิทกันก่อนแล้วจึงชักชวนให้ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล นี่เป็นสาเหตุให้พวกเขารู้ว่า งานที่ทำไม่ตรงกับที่ตกลงกับนายหน้าไว้
จนรู้ว่าเป็นงานหลอกคนไทยมาลงทุน ทุกคนเลยไม่อยากทำและติดต่อทางบ้านให้แจ้งสถานทูตไทยขอความช่วยเหลือกลับบ้าน แล้วก็แจ้ง 1599 คือแจ้งไปหลายที่มากครับ เพราะพวกผมถูกกักขังอยู่ในตึกออกไปไหนไม่ได้เลย
ชาวไทย 14 คนได้รับเอกสารรายการจ่ายเงินจากนายจ้างชาวจีน ระบุจำนวนเงินที่พวกเขาต้องจ่ายคนละ 200,000 – 300,000 บาท หากต้องการเป็นอิสระ
เมื่อค่าไถ่ตัวต่อคนสูง คนไทยกลุ่มนี้จึงพยายามติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านญาติพี่น้องไปยังหลายหน่วยงานทั้งตำรวจและสถานเอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรไทยใน สปป.ลาว
วันที่ 9 มิ.ย. 2565 หลังจากประสานขอความช่วยเหลือนานกว่า 1 เดือน คนไทยทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวจากคิงส์โรมัน เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ
การประสานงานช่วยเหลือคนไทยที่ลักลอบเข้าไปทำงานในพื้นที่ที่คิงส์โรมัน เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในแต่ละครั้ง เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของชาวจีน
จากการพูดคุยกับชายไทยอีกคนที่เคยไปทำงานในพื้นที่คิงส์โรมัน เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ และได้รับความช่วยเหลือกลับประเทศก่อนหน้านี้ เขา บอกว่า นายหน้าคนไทยชักชวนไปทำงานเป็นแอดมิน เสนอเงินเดือน 2 หมื่นกว่าบาท จึงลักลอบนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงไปทำงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565
ริมแม่น้ำโขง ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นจุดที่นายหน้านำพาเขาลงเรือข้ามแม่น้ำโขงไป สปป.ลาว จากนั้นใช้เวลาราว 9 นาที เดินทางไปคิงส์โรมัน แต่เมื่อรู้ว่าเป็นงานหลอกคนไทยให้มาลงทุน โดยมีนายจ้างชาวจีนเป็นเจ้าของ จึงเริ่มหาช่องทางขอความช่วยเหลือกลับประเทศไทย
ในระหว่างอยู่ที่คิงส์โรมัน เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เขาบอกว่า ถูกขายต่อจากบริษัทที่ 1 ไปยังบริษัทที่ 2 ไม่ต่างกับคนไทยอีกหลายคน
ชายคนนี้ ระบุว่า ในระหว่างที่ทำงานเคยได้รับเงินเดือน 20,000 บาทเพียงครั้งเดียว แต่ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปทั้งหมด ราว 70,000 บาท แต่สำหรับการกลับประเทศไทย เขาไม่ได้เสียเงินค่าไถ่ตัวให้กับนายจ้างชาวจีน เนื่องจากไม่มีการเซ็นเอกสารสัญญาการทำงานแต่อย่างใด
ข้อมูลจากงานวิจัย เรื่อง คิงส์โรมัน กาสิโนกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคํา โดย ณัฐกร วิทิตานนท์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปี 2550 กลุ่มทุนของ "จ้าว เหว่ย" (Chio WaI) ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ปัจจุบันถือพาสปอร์ตมาเก๊า ได้รับสัมปทานที่ราบผืนใหญ่ในเขตเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เรียกว่า "เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ" หรือ The Golden Triangle Special Economic Zone: GTSEZด้วยสัญญายาวนาน 99 ปี เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2551
เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ ถูกวางยุทธศาสตร์ให้เป็นเมืองปลายทางการท่องเที่ยวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งโรงแรม พิพิธภัณฑ์ แหล่งบันเทิงครบวงจร โดยเฉพาะกาสิโน
คิงส์โรมันกาสิโน เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 (2552) ผลการศึกษาพบว่า คิงส์โรมันส่งผลด้านลบทางสังคมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการถูกใช้เป็นแหล่งฟอกเงิน รัฐบาลสหรัฐฯ เคยออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุว่า เครือข่ายธุรกิจของ จ้าว เหว่ย นับเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ
ขณะเดียวกัน เริ่มมีปัจจัยสุ่มเสี่ยงต่อการขยายตัวของอาชญากรรมข้ามชาติ และ กลุ่มคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ รวมถึง ปัญหาโสเภณีข้ามชาติ
ข้อมูลจากด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงแสน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบุว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 – พฤษภาคม 2565 มีคนไทยลักลอบเดินทางไปทำงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ได้รับการช่วยเหลือกลับประเทศไทย รวม 56 คน