ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดรหัสจีโนมโควิด 100 คน BA.5 แซงสายพันธุ์อื่น 54.3 %

สังคม
18 ก.ค. 65
11:05
972
Logo Thai PBS
ถอดรหัสจีโนมโควิด 100 คน BA.5 แซงสายพันธุ์อื่น 54.3 %
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รายงานผลการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด 100 คนพบโอมิครอนสายพันธ์ุ BA.5 แซงสายพันธุ์อื่น 54.3 % ด้าน "อนุทิน" ยืนยันคนของ สธ.ถูกเชิญออก เพราะไม่มีอำนาจดูแลใน กทม.แต่เชื่อว่า ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่อาจเปลี่ยนนโยบาย เพราะมาจากการเลือกตั้ง

วันนี้ (18 ก.ค.2565) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 1,814 คน ผู้ป่วยสะสม 2,337,408 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) หายป่วยกลับบ้าน 2,361 คน ผู้ป่วยกำลังรักษา 22,735 คน เสียชีวิต 17 คน จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ 794 คน 

ขณะที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการถอดรหัสพันธุกรรม ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา จำนวน 100 ตัวอย่าง

พบเชื้อโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 มากที่สุดที่ร้อยละ 54.3 รองลงมา คือ BA.5 ร้อยละ 26.1 โดยยังไม่พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5.3.1 และ BA.2.75

และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของ BA.4 และ BA.5 จากทั่วโลกมากพอ ที่จะสรุปว่าโอมิครอน 2 สายพันธุ์ย่อย มีความรุนแรงในการก่อโรค หรือมีผลให้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต ต่างกันหรือไม่

โอมิครอน BA.4 และ BA.5 พบระบาดสูง 157%

สำหรับสัดส่วนการแพร่ระบาดของ BA.4 และ BA.5 ในแต่ละประเทศแตกต่างกัน โดยในประเทศไทยพบ ในสัดส่วน 4.4 ต่อ 1 สังเกตได้ว่า แต่ละประเทศยอดกราฟ หรือพีกของจำนวนผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 จะต่ำกว่า BA.1 และ BA.2

ต่างจากไทยจำนวนผู้ติดเชื้อ BA.4 ขณะนี้พีกสูงกว่า BA.1 และ BA.2 โดยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดถึง 157 % เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน

นพ.มนุญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า โควิด-19 กลับมาระบาดอีกเป็นระลอกที่ 6 ครั้งนี้ เชื้อ BA.5 แพร่ได้เร็ว ติดง่าย หลบภูมิจากวัคซีนได้ดีกว่าเดิม เชื่อว่าขณะนี้คนไทยที่เคยติดเชื้อน่าจะมีมากกว่าผู้ที่ไม่เคยติด ขอให้ทุกคนป้องกันตัวเองให้ดีที่สุดต่อไป รับไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะเชื้อกลายพันธุ์ตลอดเวลาทำให้เพิ่มโอกาสในการติดเชื้อมากขึ้น

สธ.-กทม.หารือคุมโควิด-19 ระบาด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พื้นที่ กทม.และปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น  ผู้ป่วยในโรงพยาบาลวันละประมาณ 2,000 คน มากกว่าครึ่งจะอยู่ในพื้นที่ กทม. ส่วนเตียงผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดง ภาพรวมทั้งประเทศประมาณร้อยละ 13 แต่ กทม.มีอัตราครองเตียงกว่า ร้อยละ 42

โดยวันนี้ (18 ก.ค.) จะมีการเชิญผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การระบาดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะขอความร่วมมือใน 2 ส่วน คือการลด ละ เลิก กิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อและแพร่เชื้อ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.สามารถออกมาตรการต่าง ๆ ภายในพื้นที่ให้มีความเหมาะสมได้

อีกส่วนคือ การเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงการเตรียมความพร้อมเรื่องเตียง ซึ่งจำนวนที่น้อยลงส่วนหนึ่งเกิดจากการคืนเตียงโควิด กลับไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ทำให้ต้องเตรียมความพร้อม ในการบริหารจัดการเตียงให้เพียงพอ

สำหรับการหารือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ กทม.วันนี้ นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ยังไม่เห็นหนังสือจาก สธ.เชิญผู้ว่าฯ กทม.หารือโดยตรง แต่เป็นการเชิญปลัด กทม.เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคโควิดใน กทม.

คาดว่าปลัด กทม.จะร่วมประชุมด้วยตนเอง หรืออาจจะมอบหมาย พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. เข้าร่วมแทน และหลังจากการประชุมแล้วเสร็จคาดว่าจะแถลงรายละเอียดให้ทราบต่อไป

"อนุทิน" ยันสธ.ไม่มีอำนาจดูแลในกทม.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิด 19 และการที่ กระทรวงสาธารณสุขจะหาหรือกับทางกรุงเทพมหานครในวันนี้ว่า ไม่ทราบรายละเอียด เพราะเป็นการประสานงานระหว่างปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งรัฐมนตรีจะดูแลภาพรวม และด้านนโยบาย แต่ก็พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่หากมีการเสนอในเรื่องใดขึ้นมาให้พิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม

ระบบสาธารณสุขของ กทม.มีความเป็นเอกเทศ ที่ผ่านมา สธ.เคยขอเข้าไปช่วยเหลือแต่ถูกขอให้ออกมา ซึ่ง สธ.ไม่ได้โกรธหรือไม่พอใจ และเห็นเรื่องของสุขภาพประชาชนสำคัญกว่า

โดยหลักแล้ว กระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจเข้าไปดูแล แต่เป็นฝ่ายสนับสนุน เพราะยังต้องมีการจัดหายาเวชภัณฑ์และเรื่องหลักเกณฑ์ของ  สปสช.ซึ่งหากเล่นการเมือง ก็จะมีปัญหากับประชาชนในเรื่องของยาและเวชภัณฑ์

ดังนั้นจึงพยายามสนับสนุนให้ได้มากที่สุด แต่เรื่องของการบริหารงานในกทม.จะเข้าไปยุ่งไม่ได้ ซึ่งต่างกับในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีโรงพยาบาลของสาธารณสุขอยู่ในระดับตำบลและอำเภอ ทำให้ระบบสาธารณสุขในต่างจังหวัดเข้มแข็ง โรงพยาบาลหลักๆ ของกระทรวงสาธารณสุขในกรุงเทพมหานครมีเพียง 3 แห่ง

ทั้งนี้การที่มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานไปจากเดิม เพราะเป็นผู้ว่าฯ ที่ลงพื้นที่มาก และมาจากการเลือกตั้งของประชาชน อาจจะไม่มีการเชิญคนของกระทรวงสาธารณสุขออก และกระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง