ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ยาย 82 ปี" ป่วยติดเตียงติดโควิดเสียชีวิตคาบ้านพัก

สังคม
16 ก.ค. 65
08:45
1,340
Logo Thai PBS
"ยาย 82 ปี" ป่วยติดเตียงติดโควิดเสียชีวิตคาบ้านพัก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กลุ่มเส้นด้าย เข้ารับศพยายอายุ 82 ปีป่วยติดเตียง-ติดโควิด ไม่มีอาการ เสียชีวิตคาบ้านพัก หลังเข้าช่วยเหลือและประสานรับยาโมดูลพิราเวียร์กินเกือบครบ 40 เม็ด ระบุตั้งแต่ 4 ก.ค.มีเคสเสียชีวิตคาบ้านแล้ว 4 คน ขณะที่ตัวเลขติดเชื้อเพิ่ม 2,023 คน เสียชีวิต 20 คน

วันนี้ (16 ก.ค.2565) ศูนย์ข้อมูล COVID-19  รายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 2,025 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,023 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 2 คน ผู้ป่วยสะสม 2,333,566 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,181 คน หายป่วยสะสม 2,333,662 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 23,867 คน เสียชีวิต 20 คน เสียชีวิตสะสม 9,280 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) ผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 785 คน

หญิง 82 ปีป่วยติดโควิดเสียชีวิต ทั้งที่ไม่มีอาการ 

ขณะที่กลุ่มเพจเส้นด้าย โพสต์ข้อความ ระบุว่า เป็นครั้งหนึ่งที่ภารกิจการช่วยชีวิตของเราไม่สำเร็จ แม้จะพยายามกันอย่างเต็มที่ อุปสรรคสำคัญในการทำงานช่วยชีวิตคนยังคงเป็น “เวลา” ที่ช้าเพียงนิดเดียวก็เรียกคืนอะไรไม่ได้ เคส 608 เสียชีวิตคาบ้าน เกิดขึ้นที่ย่านนนทบุรี ผู้เสียชีวิตเป็นคุณยายวัย 83 ปี ป่วยติดเตียง ไม่เคยรับวัคซีนและมีโรคประจำตัว

ข้อมูลระบุว่า ยาย 82 ปี มีโรคเบาหวาน ความดัน โรคไตเรื้อรัง และอาการอื่นๆ โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางครอบครัวพบว่ายายติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังไม่มีอาการอะไร ได้พยายามติดต่อประสาน รพ.ของรัฐตามสิทธิการรักษา ทางรพ.แจ้งว่า ญาติต้องนำส่งผู้ป่วยเอง ซึ่งทางครอบครัวก็ไม่สามารถทำได้ เพราะยายนั้นเป็นผู้ป่วยติดเตียง การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายดาย

ครอบครัวจึงติดต่อเพจเส้นด้าย ประสานแพทย์ให้ประเมินอาการ และแพทย์ ได้จัดยาโมลนูพิราเวียร์ ให้อย่างเร่งด่วนที่สุด ในช่วงเช้าวันนี้เป็นวันที่จะต้องกินยารอบสุดท้ายให้ครบ 40 เม็ดตามที่แพทย์กำหนด
แต่ยายก็เสียชีวิตแล้ว

ตั้งแต่รัฐบาลประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ทีมเส้นด้ายในพื้นที่กรุงเทพและนนทบุรี ได้รับแจ้งมีผู้เสียชีวิตภายในบ้าน จากการติดเชื้อ โควิด-19 รวมแล้ว 4 คน

แม้ตัวเลขเท่านี้จะไม่น่าตกใจ สำหรับหน่วยงานรัฐที่มักมองแต่ตัวเลขและสถิติ แต่นี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรจะต้องเจอ นี่คือชีวิตของและการเห็นคนในครอบครัวจากไปต่อหน้าโดยที่ไม่อาจช่วยอะไรได้คือฝันร้าย 

กลุ่มเส้นด้ายชี้หยุดยาวติดโควิดพุ่ง

นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ หัวหน้าศูนย์เส้นด้ายนนทบุรี ชี้แจงว่า ครอบครัวนี้ติดโควิดทั้งครอบครัว โดยมีผู้สูงอายุวัย 82 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง เมื่อโทรแจ้งโรงพยาบาลที่มีสิทธิ์รักษาได้รับแจ้งว่าต้องนำตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเอง แต่ครอบครัวไม่มีรถ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงจะลำบากและมีค่าใช้จ่าย จึงติดต่อมายังมูลนิธิเส้นด้ายแทน

แพทย์อาสาจึงจัดนำยาโมนูพิราเวียร์ให้ผู้ป่วย ซึ่งทานจนถึงวันสุดท้าย และจากการวัดค่าต่างๆก็ปกติ ผู้ป่วยไม่แสดงอาการ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก แต่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวคือโรคไต และ โรคเบาหวาน จากนั้นญาติโทรมาแจ้งว่าผู้ป่วยมีอาการชักเกร็ง และเสียชีวิต

กลุ่มเส้นด้าย ยอมรับว่า หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเพื่อปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่ช่วงหยุดยาวที่ผ่านมามูลนิธิเส้นได้รับการติดต่อจากผู้ป่วยประมาณ 30 คนที่ต้องจัดยาไปให้ เพราะโรงพยาบาลตามสิทธิแล้วให้คำตอบว่าไม่มีหมอจ่ายยาให้

ชมรมแพทย์ชนบทตั้งคำถามยาฟาวิพิราเวียร์

ขณะที่มีการตั้งคำถามถึงยาฟาร์วิพิราเวียร์ ที่ใช้รักษา เมื่อชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟซบุ๊กว่า หยิบยกข้อความอ้างว่ามาจากกลุ่มไลน์ จากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่ส่งมาแจ้งยังสาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งเปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด ที่พบการติดเชื้อในเด็กและผู้ปกครองจำนวนมาก แต่ฟาร์วิพิราเวียร์ กลับมีเพียง 7 วัน และให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ยาโมลนูพิราเวียร์แทน

พร้อมเขียนข้อความว่า ต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริง ยาฟาร์วิพิราเวียร์ กำลังร่อยหรออย่างรวดเร็ว อีกไม่กี่วันจะหมดประเทศ ขณะนี้ต้องใช้โมลนูพิราเวียร์ มาใช้แทน ส่วนป่วยน้อยและอายุน้อยก็ใช้ฟ้าทะลายโจร นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฟาร์วิพิราเวียร์ขาดแคลน องค์การเภสัชควรเป็นผู้รับผิดชอบ

อภ.แจงมีแผนสำรองยาฟาวิฯ ส่งทุกวันไม่มีปัญหา

เภสัชกรหญิงศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่าได้มีการบริหารจัดการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อรองรับกับสถานการณ์การระบาด จำนวน 25 ล้านเม็ด โดยจัดส่งกระจายให้กับหน่วยบริการแม่ข่าย อย่างต่อเนื่องทุกวันไม่เว้นวันหยุด

หลังจากนั้นหน่วยงานแม่ข่ายจะทำการบริหารจัดการและกระจายให้แก่หน่วยบริการลูกข่ายในแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมาจัดส่งแล้ว 3.7 ล้านเม็ด

ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 21.3 ล้านเม็ด ทยอยส่งมอบได้ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 17 ก.ค.นี้เป็นต้นไป และยังจัดหา ยาโมนูลพิราเวียร์ 5 ล้านแคปซูล ส่งมอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 2 ล้านแคปซูล อีก 3 ล้านแคปซูล อยู่ระหว่างจัดหา คาดว่าส่งมอบได้ไม่เกินปลายเดือนก.ค.นี้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง