วันนี้ (11 ก.ค.2565) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (2-8 ก.ค.) สุ่มตรวจหาเชื้อไป 570 คน พบว่าเป็นสายพันธุ์ BA.1 จำนวน 5 คน BA.2 จำนวน 283 คน และ BA.4/BA.5 จำนวน 280 คน และแยกไม่ได้ชัดเจน 2 คน
ทั้งนี้ ใน กทม. พบว่า การติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เช่นเดียวกับในภูมิภาคที่พบเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น แนวโน้มน่าจะเป็นสายพันธุ์ที่เริ่มแซง BA.1 และ BA.2
ขณะที่การตรวจสอบความรุนแรงของสายพันธุ์ พบว่าในพื้นที่ กทม. ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4/BA.5 มีอาการไม่รุนแรง 71.95% ส่วน BA.2 28.05% ขณะที่กลุ่มที่อาการรุนแรง ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต ได้ตรวจไป 13 คน พบเป็น BA.4/BA.5 จำนวน 76.92% และ BA.2 จำนวน 23.08% ซึ่งดูจากข้อมูลน่าจะชี้ได้ว่า BA.4/BA.5 มีความรุนแรงมากกว่า
ประเทศไทยในเบื้องต้น เป็นที่สังเกตว่า BA.4/BA.5 น่าจะมีความรุนแรงมากกว่า BA.2
ขณะที่สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) พบ BA.5 เพิ่มขึ้น โดยใน 83 ประเทศทั่วโลกพบเพิ่มขึ้นเป็น 52% จาก 37% ส่วน BA.4 พบเพิ่มขึ้นเป็น 12% จาก 11% และ BA.2.12.1 พบลดลงจาก 19% เป็น 11% สะท้อนว่า BA.5 น่าจะแพร่เร็วกว่า BA.4 ส่วนความรุนแรง WHO ยังไม่ได้ให้น้ำหนักมาก อาจรุนแรงไม่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นมากนัก แต่แพร่เร็วกว่าแน่นอน
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลทั้งหมดสรุปได้ว่า BA.4/BA.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และมีความรุนแรงมากกว่า BA.1 BA.2 แต่จำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจยังมีจำนวนไม่มากพอที่จะสรุป จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัด กทม. และสังกัดอื่น ๆ นำตัวอย่างของผู้ที่ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต มาส่งตรวจเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนใช้มาตรการส่วนบุคคล ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิต รวมทั้งในช่วงวันหยุดยาว ขอให้ประชาชนดูแลตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ หากฉีดวัคเข็มสุดท้ายเกิน 3-4 เดือน ขอให้ฉีดเข็มกระตุ้น