จาก 12.5 % ไตรมาสแรก ปี 65 จากผลโพลหัวข้อ “คะแนนนิยมทางการเมือง” ของนิด้าโพลล์ ที่จัดทำสำรวจ คะแนนนิยม “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานครอบครัวเพื่อไทย เพิ่มขึ้นเป็น 25.2 % หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ในไตรมาสที่ 2/65 ทั้งที่เพิ่งจะมีชื่อติดสำรวจในกลุ่มนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนอยากเลือกเป็นปีแรก
หลังการเปิดตัวปฐมฤกษ์ที่ จ.ขอนแก่น ในฐานะเพียงประธานที่ปรึกษาฝ่ายนวัตกรรมและการมีส่วนร่วมของพรรคเพื่อไทย ในเดือนตุลาคม 64 และต่อด้วยการขึ้นเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ประกาศเรียกหามวลชนที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทย 12 ล้านเสียง ให้กลับคืน “บ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม” บนเวทีกิจกรรมที่จ.อุดรธานี
สาเหตุที่ต้องพื้นที่ภาคอีสาน เป็นที่เปิดตัวทายาทคนเล็กของนายทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของพรรค มาตั้งแต่เป็นพรรคไทยรักไทย คู่ขนานไปกับฐานไข่แดงภาคเหนือ
นอกจากนี้ ภาคอีสานยังมีจำนวน ส.ส.มากถึง 1 ใน 3 ของส.ส.ทั้งหมด ซึ่งพรรคเพื่อไทยยังมั่นใจในฐานเสียงว่า เหนือกว่าทุกพรรค เห็นได้จากการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2544
ปฏิบัติการครั้งที่ 3 ในอีสานที่ จ.ศรีสะเกษ จึงตามมาเมื่อไม่กี่วันก่อน กับยุทธการ “ตีหนูไล่งูเห่า” ที่ขนแกนนำพรรคลงไปครบครัน รวมทั้ง ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ คนที่มีภารกิจสำคัญ คือเป็นคนกลางเชื่อมกับมวลชนคนเสื้อแดงและนปช.ให้กลับคืนการเป็นแนวร่วมพรรคเพื่อไทย
ผลของนิดาโพล ไตรมาส 2 ปี 2565 ดังกล่าว ไม่เพียงมีเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกฯจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเท่านั้น แต่ยังแซง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่เป็น “แชมป์เก่า” ไตรมาสแรกปี 2565 และแซง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เป็นแคนดิเดทสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ ถึง 13-14 % จากเดิมไตรมาสแรก “อุ๊งอิ๊ง” ตามหลังอยู่ไม่ถึง 1 %
ความนิยมที่พุ่งขึ้น มีความหมายถึงการสะท้อนความนิยมจากประชาชนปัจจุบันขณะเดียวกัน ยังฉายภาพการเมืองในอนาคต ที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้าอย่างเด่นชัด ทั้งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีผู้นำประเทศ ที่ “อุ๊งอิ๊ง” กำลังเปล่งประกายแบบมาแรงแซงดะ ขณะที่คู่แข่งสำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังสปีดไม่ขึ้น
หากไปดูคะแนนนิยมพรรคการเมือง จะเห็นได้ชัดว่า กลุ่มที่เคยลังเล ยังไม่บอกจะหนุนพรรคการเมืองใด เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย จากไตรมาสแรก 28 % เหลือ 18 % ลดลงถึง 10 % ขณะที่คะแนนพรรคเพื่อไทย เพิ่มขึ้น 11 % เป็น 36.3 % พรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้น 1.5 % เป็น 17.8 %
และหากเอาคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยไปรวมกับพรรคก้าวไกล จะมีรวมกัน 53 % ยิ่งหากไปรวมกับพรรคเสรีรวมไทย และพรรคไทยสร้างไทย ที่มีคะแนนนิยมตามมาในลำดับที่ 6 และ 7 มีเสียงรวมกันเกือบ 6 % จะทำให้มีเสียงรวมเพิ่มเป็น 60 %
หากในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ การขยับของคะแนนนิยมทางการเมืองเป็นไปในลักษณะนี้ โดยกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้านปัจจุบัน นำโดยพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล จับมือกันรวมกับพรรคอื่น ๆ รวมทั้งพันธมิตรที่ตั้งใหม่ อาทิ พรรคกล้าและพรรคไทยสร้างไทย จับพลัดจับผลู รวมกันได้ 70-75 % อาจยิ่งทำให้สถานการณ์การเมืองเพิ่มดีกรีความร้อนได้มากขึ้น ถึงขั้นเสียงโหวตเลือกนายกฯของ ส.ว.อาจหมดความหมายได้ เพราะคะแนนของ 2 ฝ่ายจะก้ำกึ่งกัน
คำถามที่ตามมา คือ ส.ว.จะกล้าโหวตสวนมติประชาชนหรือไม่ หากฝ่ายค้านปัจจุบันได้เสียงสนับสนุนขนาดนั้น เพราะบริบทจะแตกต่างจากการโหวตเลือกนายกฯเมื่อปี 2562 อีกทั้งไม่มีใครรับประกันว่า ในปีสุดท้าย ส.ว.ทั้ง 250 คนจะยังคงมีความเป็นเอกภาพเหมือนเดิมหรือไม่
ที่สำคัญ การบริหารราชการแผ่นดิน ต้องอาศัยกลไกรัฐสภา ประกอบด้วย หากเสียงฝ่ายรัฐบาลเป็นเสียงข้างน้อย จะเป็นปัญหาใหญ่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลจะเดินหน้าต่อไม่ได้
เป็นโจทย์ใหญ่นับจากนี้ สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐโดยตรงอย่างปฏิเสธไม่ได้