ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ค้านซื้อไฟฟ้าจาก "เขื่อนลาว" หวั่นแบกภาระ หลังไฟฟ้าสำรองล้น

สิ่งแวดล้อม
25 มิ.ย. 65
21:51
3,251
Logo Thai PBS
ค้านซื้อไฟฟ้าจาก "เขื่อนลาว" หวั่นแบกภาระ หลังไฟฟ้าสำรองล้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หวั่นค่าไฟเพิ่ม ประชาชนแบกภาระ กพช.อนุมัติให้ กฟผ.ซื้อไฟฟ้าจาก 2 เขื่อนลาว ทั้ง ๆ ที่ไฟฟ้าสำรองล้น เครือข่ายชาวบ้านริมโขงทำหนังสือถึงนายกฯ ให้ตรวจสอบ ขณะที่ UNESCO ให้ทำ HIA หวั่นกระทบเมืองมรดกโลก “หลวงพระบาง”

วันนี้ (25 มิ.ย.2565) นายอำนาจ ไตรจักร ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง เปิดเผยว่า ประชาชาชนริมแม่น้ำโขงได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนไทย

เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ได้รับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการเขื่อนปากลาย และโครงการเขื่อนหลวงพระบาง มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามใน PPA ซึ่งเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม ที่สำคัญคือจะส่งผลกระทบข้ามแดนต่อประชาชนไทย ที่อยู่ริมแม่น้ำโขง

ในหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ระบุถึงข้อกังวลใจของชาวบ้านว่า การเร่งรัดการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับเอกชนรายใหญ่ โดยไม่มีส่วนร่วมของประชาชน และไม่คำนึงถึงข้อมูลเท็จจริงของสถานการณ์พลังงานในประเทศว่า มีปริมาณไฟฟ้าสำรองในระบบสูงมากกว่า 50 % เป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยมีราคาแพงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และ PPA ใหม่นี้ ยังเป็นการซื้อไฟฟ้าในราคาที่แพงมากกว่าปัจจุบัน ที่รับซื้อจากประเทศลาว (ปัจจุบันประมาณ คือ 1.5 บาทเท่านั้น) เนื่องจาก กฟผ. ทำสัญญากับโรงไฟฟ้าเอกชนแบบ take or pay (ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย) ค่าความพร้อมจ่ายที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เป็นการผลักภาระให้แก่ประชาชนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือน

“พวกเรายังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า มติ กพช. เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564 ในการขยายกรอบความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยและลาว จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์นั้น คือ การขยายเพื่อรองรับปริมาณไฟฟ้าจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักคือ เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนน้ำงึม 3 ซึ่งจะถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนขนาดใหญ่ หรือไม่” หนังสือระบุ

หนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า ผลกระทบจากโครงการเขื่อนในปัจจุบัน ยังไม่มีการแก้ปัญหา ไม่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบ ทั้งต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงใน 8 จังหวัดของไทย

 

ไม่ว่าจะเกิดจากความผันผวนของระดับน้ำโขง ที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล อันเนื่องจากการใช้งานเขื่อน และการลดลงของปริมาณตะกอนจนวัดค่าไม่ได้ (ปรากฏการณ์แม่น้ำโขงสีฟ้า) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีการใช้งานเขื่อนไซยะบุรี นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

ดังนั้น การผลักดันสร้างเขื่อนเป็นขั้นบันไดบนแม่น้ำโขงเพิ่มอีก 2 เขื่อน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และประชาชนที่อาศัยในชุมชนลุ่มน้ำโขงต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกระบวนการศึกษา เพื่อให้เป็นการตัดสินใจที่มีฐานข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง ไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น

หนังสือระบุอีกว่า ประชาชนไทยที่อาศัยอยู่ใน 7 จังหวัด ริมฝั่งแม่น้ำโขงในภาคอีสาน ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศของแม่น้ำโขง ที่เกิดจากการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรี ที่อยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย 200 กม. ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนอย่างแสนสาหัส

ทั้งการสูญเสียอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรแม่น้ำโขง สูญเสียรายได้ แหล่งอาหาร และวิถีชีวิต หลายปีที่ผ่านมาประชาชนได้ร้องเรียนต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลไทยเองยังไม่เคยแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

เสมือนความทุกข์ยากที่เกิดขึ้น ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล และการซื้อขายไฟฟ้าก็ดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ นโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงในลาว จึงไม่สามารถนับได้ว่าเป็นพลังงานสะอาด เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่รุนแรงและกว้างขวาง

 

นอกจากนี้พื้นที่ก่อสร้างโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ห่างจากเมืองหลวงพระบางเพียง 24 กิโลเมตร เมืองหลวงพระบางได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก โดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) นับตั้งแต่ปี 2538

เมื่อมีการเสนอโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2564 ให้ชะลอการก่อสร้างออกไป และให้รัฐบาลลาวจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อมรดกโลก (Heritage Impact Assessment-HIA) และรายงานการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง โดยมีกำหนดแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา

 

แต่ปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่า ได้มีการศึกษาหรือไม่ อย่างไร และไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะถึงผลของการศึกษาดังกล่าว เพื่อใช้ในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจต่อโครงการเขื่อนแต่อย่างใด

การที่ประเทศไทย โดย กฟผ. จะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง จำเป็นอย่างยิ่งต้องนำผลการศึกษารายงานผลกระทบต่อมรดกโลก (HIA) ดังกล่าว และความเห็นของคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง

“กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจของไทย หากลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว เสมือนหนึ่งกระทำการในนามรัฐบาลไทยภายใต้พรบ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า และส่งผลโดยตรงต่อการบริหารจัดการไฟฟ้าที่ไร้ประสิทธิภาพในปัจจุบัน จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกฟผ. เพื่อให้เกิดการปกป้องคุ้มครองประโยชน์ของชาติ ประโยชน์สาธารณะ ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม”

นอกจากทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว เครือข่ายประชาชนไทยลุ่มแม่น้ำโขง 8 จังหวัด ยังได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการตรวจสอบกรณีดังกล่าวด้วย

 

ด้าน นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาลุ่มน้ำโขง (MEENet) และนักวิเคราะห์ด้านพลังงาน กล่าวว่า ประเด็นราคาค่าไฟฟ้า ที่มีการตกลงสำหรับ 2 โรงไฟฟ้าเขื่อนแม่น้ำโขงในครั้งนี้ เป็นราคาที่สูงกว่าที่มีการรับซื้อจากพลังงานหมุนเวียน solar rooftop จากประชาชนในประเทศไทย

เท่ากับว่า เมื่อจะซื้อจากประชาชนนั้นจ่ายให้ราคาต่ำกว่า สะท้อนว่ากำลังจะให้ประโยชน์กับทุนขนาดใหญ่หรือไม่ ที่ผ่านมาเหตุผลที่อธิบายการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในลาว คือบอกว่าไฟฟ้าราคาถูก แต่ครั้งนี้ถือว่าไม่จริง เพราะมีราคาซื้อแพงกว่าราคารับซื้อเฉลี่ยในไทย

นายวิฑูรย์กล่าวว่า นอกจากนี้อายุสัญญา 35 ปีนั้น ยาวนานและไม่เคยมีมาก่อน เท่ากับว่าไม่ให้โอกาสในการทบทวนแผนในอนาคต ซึ่งจะกลายเป็นหนี้คงค้าง คือภาระที่จะผูกพันในอนาคตโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีความจำเป็นหรือไม่ เป็นภาระที่นำมาสู่ค่าไฟฟ้าแพงสำหรับประชาชน คือค่าความพร้อมจ่ายที่ลงนามล่วงหน้ารับซื้อไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

“น่าสังเกตกว่า บางโครงการไม่เคยอ้างไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟ้ฟ้าของประเทศไทย (PDP) มาก่อนเลย แต่กลับมีบริษัทผู้ลงทุนสามารถทำให้โครงการของตนสามารถได้ทางลัด fast track ทั้ง ๆ ที่เวลานี้โรงไฟฟ้าของบริษัทดังกล่าว ก็มีสัดส่วนกำลังผลิตอยู่ในระบบสูงมากอยู่แล้ว และกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้เดินเครื่องเลยในช่วงโควิด แต่กลับมีโครงการใหม่เข้ามาอีก เห็นได้ชัดถึงกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลสูงมากในเวลานี้” นายวิฑูรย์ กล่าว

สำหรับ โครงการเขื่อนหลวงพระบาง ผู้พัฒนาโครงการ คือ CK Power ร่วมกับ PT (Sole) Company Limited ร่วมกับ Ch.Karnchang (ช.การช่าง) และ Petro Vietnam Power Corporation ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ประเทศลาว ในเขตหลวงพระบาง มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย ณ จุดส่งมอบ 1,400 เมกะวัตต์

เป็นโรงไฟฟ้าประเภทเขื่อนน้ำไหลผ่าน (Run off River) พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 6,577 ล้านหน่วย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 35 ปี กำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) วันที่ 1 มกราคม 2573 ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 2.8432 บาท

 

ส่วนโครงการเขื่อนปากลาย มี บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ Sinohydro (Hong Kong) Holding Ltd. (SHK) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Power Construction Corporation of China Ltd. (POWERCHINA) ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และการไฟฟ้าลาว (EDL) เป็นผู้ลงทุนดำเนินโครงการ

โดยโครงการเขื่อนตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ในเขตเมืองปากลาย แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว มีกำลังผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในวันที่ 1 มกราคม 2575 โดย กฟผ. จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.6989 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง