วันนี้ (23 มิ.ย.2565) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แล้ว กรณีที่พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 กับ BA.5 ในประเทศไทย จากรายงานในต่างประเทศ พบว่าเชื้อกลายพันธุ์ดังกล่าวติดง่าย และมีแนวโน้มอาการจะรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม แต่ยังต้องรอข้อมูลที่ชัดเจน รวมทั้งมีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันและลงปอดได้ง่ายขึ้น ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงรักษาตามอาการ ไม่ได้แยกสายพันธุ์ เพราะการสุ่มตรวจสายพันธุ์เป็นหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ขณะนี้สถานการณ์ระบาดใน กทม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 จากเดือนที่แล้ว เพราะการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และการเปิดสถานบันเทิง แต่ว่าสัดส่วนผู้ป่วยครองเตียงสีแดง ไม่ได้เพิ่มขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ป่วย ที่รักษาในโรงพยาบาล รวมถึงพบเด็กติดเชื้อจากโรงเรียน และนำไปแพร่ต่อให้คนในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม โควิดโลก “GISAID” ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 จำนวน 23 คน BA.5 จำนวน 26 คน และ BA.2.12.1 จำนวน 18 คน ซึ่งยังเป็นจำนวนที่ไม่น่ากังวล อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้
ภาพ : Center for Medical Genomics
ขณะที่ข้อมูลจาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เผยแพร่ข้อมูลผานเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 จุดประกายความกังวลไปทั่วโลก สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนาม เพื่อให้เข้าจับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น เหมือนกับสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดและมีอาการติดเชื้อที่รุนแรงในอดีต ต่างจากโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 และ BA.2 ซึ่งไม่พบการกลายพันธุ์ในบริเวณดังกล่าว
ส่วนหนามมีการเปลี่ยนแปลงไปสามารถเป็นตัวเชื่อมให้ผนังของหลายเซลล์หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว ดึงดูดให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อเข้ามาทำลายเกิดการอักเสบที่ปอด
ที่น่ากังวลคือทั้งไวรัส “BA.4” และ “BA.5” ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เฝ้าระวังเพราะกำลังมีการระบาดในประเทศแอฟริกาใต้ กลับมีการกลายพันธุ์เป็น R452 (กรอบฟ้า) ส่วนไวรัส BA.2.12.1 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกาก็มีการกลายพันธุ์มาเป็น “Q452” (กรอบเหลือง) ที่อาจทำให้ส่วนหนามมีคุณสมบัติเหมือนกับสายพันธุ์ “เดลตา” (กรอบแดง) ที่สามารถทำให้เซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียว เกิดอาการปอดอักเสบ
ภาพ : Center for Medical Genomics
ไทยพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 จำนวน 49 คน
นอกจากนี้ ยังระบุว่า โปรตุเกสกำลังเผชิญกับระบาดของโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ระลอกใหม่ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อต่อล้านคนมีค่าเฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 2,043 คน ในวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราผู้ป่วยรายใหม่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก แม้ว่าจะลดลงบ้างจากระดับสูงสุดเมื่อต้นเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา จำนวน 2,878 คน โดยมีผู้เสียเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ 178 คนวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนในไทย จำนวนผู้ติดเชื้อ BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ที่ตรวจพบในประเทศไทย และได้อัปโหลดขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” มีดังนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อ BA.4 จำนวน 32 คน BA.5 จำนวน 49 คน และ BA.2.12.1 จำนวน 25 คน
ภาพ : Center for Medical Genomics
ตัวเลขโควิด 2,299 คนเสียชีวิต 18 คน
ขณะที่ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,299 คน จำแนกเป็น ผู้ป่วยในประเทศ 2,294 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 5 คน ผู้ป่วยสะสม 2,283,793 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65)
หายป่วยกลับบ้าน 1,783 คน หายป่วยสะสม 2,286,541 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) ผู้ป่วยกำลังรักษา 21,650 คน เสียชีวิต 18 คน เสียชีวิตสะสม 8,845 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 602 คน
ส่วนการฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 -22 มิ.ย.2565 มีผู้รับวัคซีน จำนวน 139, 293,613 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 13,129 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 28,081 โดส
และเข็มที่ 3 จำนวน 78,038 คน