วันนี้ (23 มิ.ย.2565) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายงานสถิติการเข้าใช้งานแอป ปลูกกัญ ล่าสุดมีจำนวนการลงทะเบียน 918,342 คน ออกใบรับจดแจ้งกัญชา 889,859 ใบ ออกใบรับจดแจ้งกัญชง 28,483 ใบ จำนวนเข้าใช้งานระบบ 41,250,114 ครั้ง
ขณะที่ นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า หลังจากปลดล็อกกัญชา จากยาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามผลกระทบจากการใช้กัญชา โดยข้อมูลจาก 3 โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ คือ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลเลิดสิน และ โรงพยาบาลราชวิถี ระหว่างวันที่ 13-21 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบรวม 9 คน โดยวันที่ 16 มิ.ย.พบสูงสุด 4 คน อยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี 2 คน และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 2 คน
อาการที่พบมากมี 3 ระบบ คือ ระบบหลอดเลือดและหัวใจ หลอดเลือดสมอง อาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันขึ้นลงๆ ชีพจรเต้นไม่เป็นจังหวะ ระบบประสาท อาการวิงเวียน มึน และพบประปรายในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งรูปแบบการรับกัญชาเข้าร่างกาย สำหรับกลุ่มที่ใช้ทางการแพทย์ได้รับข้อมูลการใช้ที่ถูกต้อง ยังไม่พบปัญหา
พบมากในกลุ่มที่สนใจทดลอง ทั้งการกินอาหารและสันทนาการ รวมทั้งในอาหารเกิดจากการที่ผู้ประกอบอาหารหวังเพิ่มรสชาติจึงใส่กัญชาเข้าไป ทำให้ผู้บริโภคได้รับกัญชาโดยไม่รู้ตัว จากประวัติของผู้เข้ารับการรักษา พบว่ากิน ส้มตำหน่อไม้ กาแฟผสมกัญชาผง คุกกี้กัญชา
พบกลุ่มสนใจอยากทดลอง-กินอาหารที่มีส่วนผสม
นพ.มานัส ระบุว่า ขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ควรบริโภคเลยคือ เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้มีที่โรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคระบบประสาท และผู้ป่วยจิตเวช หรือครอบครัวมีประวัติป่วยจิตเวช ผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ผู้ที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร ที่สำคัญขอให้ร้านค้าพึงระวังและติดป้ายแจ้งลูกค้าถึงส่วนผสมของเมนูกัญชา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
นอกจากนี้ถ้าได้รับกัญชาไปเเล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ สามารถสังเกตได้เบื้องต้น คือ การหายใจผิดปกติ ชีพจรผิดปกติ หากเริ่มไม่รู้สึกตัว ผู้ใกล้ชิดต้องเรียกรถฉุกเฉินทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องระวัง ขอย้ำว่า การพบอาการหลังใช้กัญชา ไม่ว่าจะรูปแบบใด หากมาพบแพทย์แล้วจะต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ต้องกังวลเรื่องกฎหมาย เพื่อให้แพทย์รักษาได้ทันท่วงที
ขณะเดียวกัน มีข้อมูลที่น่าสนใจ ขณะนี้มีคนที่เสพกัญชาเเละเข้าบำบัดต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มที่ใช้สันทนาการ และบริโภคในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแม้การหยดน้ำมันกัญชาก็เกิดการเสพติดได้
ทั้งนี้ทางกรมการแพทย์จึงเปิดไลน์บัญชีทางการ (Line OA) ว่า "ห่วงกัญ" เพื่อให้ประชาชนสามารถคัดกรองอาการสงสัยมีภาวะติดกัญชา แต่เบื้องต้นสามารถสังเกตได้ว่า หากใช้กัญชาในปริมาณเพิ่มขึ้น ถี่ขึ้น เริ่มมีอาการอยากยา อาการขาดยา แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อบำบัดรักษา
ขณะที่จากข้อมูลพบว่าข้อมูลที่มีรายงานผ่านสื่อมวลชน ผลกระทบจากการใช้กัญชามีรายงานหลายแห่ง
- วันที่ 17 มิ.ย.สำนักงานสาธารณสุขขอนแก่น จ.ขอนแก่น รายงานผู้เข้ารับการรักษาอาการแพ้กัญชาเบื้องต้น 100 คน
- วันที่ 21 มิ.ย.โรงพยาบาลรามาธิบดี มีรายงาน 14 คน
ชี้นำกัญชาเข้า "อินโดนีเซีย"โทษปรับ-ประหารชีวิต
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โพสต์ข้อความผ่านเพจเพซบุ๊ก Royal Thai Embassy, Jakarta แจ้งเตือนคนไทย ระบุว่าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ขอแจ้งเตือนคนไทยมิให้นำกัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าวเข้ามาในประเทศอินโดนีเซีย
ทั้งนี้สถานทูตไทย ระบุเพิ่มเติมว่า ข้อห้ามนำกัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าว เข้ามาในประเทศอินโดนีเซีย หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายอินโดนีเซีย ปรับขั้นต่ำ 1 พันล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 2,392,400 บาท จำคุก 5 ปีถึงตลอดชีวิต หรือโทษสูงสุดประหารชีวิต นอกจากนี้ขอให้ใช้ความระมัดระวังในการรับฝากสิ่งของจากผู้อื่นมายังประเทศอินโดนีเซีย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง