ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กังขา! กรมอนามัย สื่อสารพลัง (งาน) ใบกัญชา 4 เมนูอาหารยอดฮิต

สังคม
20 มิ.ย. 65
09:49
1,130
Logo Thai PBS
กังขา! กรมอนามัย สื่อสารพลัง (งาน) ใบกัญชา 4 เมนูอาหารยอดฮิต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชาวโซเชียล-นักวิชาการ กังขา กรมอนามัย เผยแพร่ข้อมูล พลัง(งาน)ใบ "กัญชา"กับ 4 เมนูยอดฮิตในเพจ ชี้เป็นการกระตุ้นการบริโภค และไม่ใช่หน้าที่ของกรมอนามัย โดยเพจใกล้ชิดหมอ ชี้ใบกัญชาไม่ได้เพิ่มพลังงานในเมนูอาหาร

กรณีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่โปสเตอร์ พลังงาน(ใบ)กัญชา ซึ่งในรายละเอียดมีคำแนะนำเมนูการปรุงอาหารใส่ใบกัญชา พร้อมทั้งระบุถึงการให้พลังงาน ทำให้มีชาวโซเชียลหลายคนตั้งคำถามถึงความเหมาะสม 

ข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นภาพโปสเตอร์ที่เผยแพร่มในเพจเฟซบุ๊ก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าข้อความว่า  1 มื้อไม่ควรกินเมนูกัญชาเกิน 2 เมนู และไม่ควรปรุงผ่านความร้อน เนื่องจากสาร THC จะละลายออกมา เสี่ยงได้รับสาร THC เกินปริมาณ (สาร THC ห้ามเกิน 1.6 มิลลิกรัม) ระมัดระวังในการใช้โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ทั้งนี้หากจะใช้ก็ให้ใช้อย่างปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่น

 

โปสเตอร์ดังกล่าวมีข้อมูลดังนี้ พลัง(งาน)ใบ "กัญชา"กับ 4 เมนูยอดฮิต สารอาหารต่อ 100 กรัมดังนี้

  • กะเพราสุขใจ 1 จาน หรือประมาณ 7 ช้อนกินข้าว ใส่ครึ่งใบ พลังงาน 385 กิโลแคลอรี
  • ไข่เจียว ไข่ไก่ 2 ฟอง ใส่ครึ่งใบ พลังงาน 363 กิโลแคลอรี
  • ต้มแซบซี่โครงหมู 1 ถ้วยเล็ก 100 กรัม ครึ่งใบ พลังงาน 93 กิโลแคลอรี
  • ชามะนาวหรรษา 1 แก้ว 200 มิลลิลิตร ใส่หนึ่งใบ พลังงาน 62 กิโลแคลอรี

นอกจากนี้กรมอนามัย ยังระบุว่า 1 มื้อ ไม่ควรกินเมนูกัญชาเกิน 2 เมนู และทั้ง 2 เมนูไม่ควรปรุง ประกอบด้วยน้ำมันที่ผ่านความร้อน เช่น การทอดหรือผัด เนื่องจากสาร THC จะละลายออกจากใบกัญชาได้ดี เสี่ยงได้รับสาร THC เกินปริมาณที่กำหนด (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 427/2564 กำหนดไว้ว่า หน่วยบรรจุมีสาร THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม )

นอกจากนี้เด็ก สตรีมีครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตร ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรรับประทานเมนูกัญชา สำหรับคนทั่วไปควรบริโภคในปริมาณน้อย และไม่บ่อยนัก เพราะอาจเกิดการเสพติดเป็นนิสัย หรือส่งผลกระทบกับสุขภาพ ทำให้ใจเต้นเร็ว ปาก คอแห้ง ง่วงนอน มึนงง และปวดหัวได้ 

ขณะที่ผู้ใช้โซเชียลพากันตั้งคำถามกับการออกโปสเตอร์นี้ พร้อมระบุว่า ถ้ามีเคสคนไข้เกิดพิษจากกัญชา จะส่งไปให้หมอในกรมอนามัยรักษา และข้อบ่งชี้ทางการแพทย์คืออะไร 

 

ชี้กัญชา ไม่ให้ "พลังงานอาหาร" 

โดยหนึ่งผู้ที่เข้ามาคืออาจารย์ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่าน Jessada Denduangboripant (อาจารย์เจษฎ์) ระบุว่า ตั้งชื่อแต่ละเมนู "พลังใบกัญชา" ได้น่าชิมมากเลย กะเพราสุขใจ ชามะนาวหรรษา กรมอนามัย ส่งเสริมให้คนไทยกินกัญชา 

เช่นเดียวเพจ ใกล้มิตรชิดหมอ ตั้งคำถาม ทำผิดหน้าที่ไปหรือเปล่า ดูเหมือนจะไม่ใช่เนื้อหาที่ควรอยู่ใน กรมอนามัย content กระตุ้นการบริโภค การสันทนาการ ที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน ก่อนจะนำเสนอเนื้อหาในเชิงสนับสนุนกันขนาดนี้ ฝากเอาไว้ด้วย

ถามว่าทำไมถึงมีมุมมองว่า infographic เป็น content กระตุ้นการบริโภค และหน่วยงานนี้ทำผิดหน้าที่

  • หัวข้อตัวใหญ่ เล่นคำว่า “พลังใบ กับ พลังงาน” ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพลังงานที่ได้รับเลย จะใส่ไปกี่ 10 ใบก็ไม่ได้เพิ่มพลังงานอะไรในเมนูมากนัก แต่การเล่นคำ ทำให้คนเข้าใจว่า “กัญชา” เป็นสิ่งเพิ่มพลัง
  • ตั้งชื่อเมนูใหม่ โดยใช้คำในแง่บวกกระตุ้นความรู้สึกอยากทดลอง “สุขใจ” “หรรษา” นี่หน้าที่ร้านอาหาร พ่อค้าแม่ค้า ไม่ใช่กรมอนามัย 
  • หากตั้งใจจะ “ห้าม” เตือน ข้อห้าม คำเตือน ต้องทำให้ใหญ่ เด่น ไม่ใช่เป็นตัวเล็กๆ เหมือนหมายเหตุ เงื่อนไข ประกันภัยที่ไม่คุ้มครอง แบบนี้ การสื่อสารไปถึงประชาชนวงกว้างที่มีคุณวุฒิวัยวุฒิต่างกัน ต้องระมัดระวังมากกว่านี้ 

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายงานสถิติวันนี้(20 มิ.ย.) มีผู้เข้าใช้งานแอปปลูกกัญ จำนวนการลงทะเบียน 893,709 ออกใบรับจดแจ้งกัญชา 866,155 ใบ ออกใบรับจดแจ้งกัญชง
27,554 ใบ จำนวนเข้าใช้งานระบบ 40,389,719 ครั้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ศิริราช" ออกประกาศคุมเข้มใช้กัญชาพื้นที่โรงพยาบาล

10 ข้อควรระวังใช้ผลิตภัณฑ์ "กัญชา"

 สสจ.ขอนแก่นพบ "แพ้กัญชา" 100 คน "เวียนหัว-คลื่นไส้"

 หมอเตือนเคสกิน "คุกกี้กัญชา" เสียชีวิตได้-จดแจ้งปลูก 7 แสน

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง